ลดคาร์บอน = เพิ่มโอกาส New S-curve ไทยกับ CCUS เทคโนโลยีเปลี่ยนเกม

14 มีนาคม 2568…CCUS ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นกุญแจสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนจากกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักลงทุน และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

14 มีนาคม 2568…สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จับมือภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ตั้ง Thailand CCUS Alliance (TCCA) เร่งผลักดัน เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง New S-curve ทางเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  CCUS ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม แต่คือโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย

“เรากำลังพูดถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ และเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศแทนการนำเข้า”

ปัจจุบัน CCUS เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เช่น สหภาพยุโรป

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนจะส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ (NDC 3.0) ในปี 2568 ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบของแต่ละประเทศในการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 โลกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงกลางศตวรรษ

โดยเป้าหมายใหม่ของ NDC 3.0 ที่จะต้องเข้มข้นขึ้นจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ทันหรือไม่ สำหรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ หรือ LT-LEDS ในสาขาพลังงาน ได้กำหนดให้ต้องมีการนำ CCUS / BECCS เข้ามามีบทบาท ภายในปี ค.ศ. 2040 และ NDC Action plan ได้บรรจุมาตรการและค่าเป้าหมายการลด GHGs รายปี ในสาขาพลังงาน ของกลุ่มที่ 3 โครงการนำร่อง CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ โดยมีค่าเป้าหมายในปี ค.ศ. 2027 – 2030 อยู่ที่ 0.25, 1.0, 1.0, 1.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (MtCO2/y) ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการศึกษา CCUS Roadmap ของ สกสว. ระบุความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี CCUS ที่มีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2050 อยู่ที่ 50-150 ล้านตันต่อปี (Mtpa) ซึ่งจะทำให้ CCUS เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถนำพาประเทศไทยเข้าใกล้ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วยิ่งขึ้น

“การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการพัฒนากลไกสนับสนุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการภาษีและการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆ รวมทั้งเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ อย่างไรก็ตามกรณีเงินสนับสนุนนั้นมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรจุอยู่ในกรณีการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ หรือ Conditional เพื่อให้เจ้าของแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ เล็งเห็นความสำคัญและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน อีกทั้งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความท้าทาย ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”  

CCUS
นวัตกรรมเปลี่ยนโลก
อุตสาหกรรมไทยพร้อมหรือยัง?

ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการ นาโนเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า “การรวมตัวเป็นเครือข่ายระดับประเทศ เช่น TCCA จะช่วยให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการลงทุน ลดระยะเวลาดำเนินงาน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนสนับสนุนระดับนานาชาติ”

การมี โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่รองรับ CCUS จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย สามารถแข่งขันในตลาดที่มีมาตรฐานคาร์บอนเข้มงวด

นาวา จันทนสุรคน รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า “CCUS ไม่ใช่แค่ช่วยลดภาระภาษีคาร์บอน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ลดต้นทุนค่าปรับ และเปิดโอกาสใหม่ในตลาดพลังงานและเชื้อเพลิงสังเคราะห์”

ก้าวต่อไป
พัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ
แทนการนำเข้า

ภายใต้การสนับสนุนของ บพค. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม) โครงการ TCCA ได้เริ่มต้นแล้ว และจะเดินหน้าสู่การพัฒนาโครงการระดับชาติ

 

ดร. ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ หัวหน้าโครงการ TCCA กล่าวว่า  “เราต้องการให้ CCUS เป็นมากกว่าการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ แต่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเอง สร้างบุคลากรทักษะสูง และวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำของไทย”

รศ.ดร. สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล หัวหน้าศูนย์วิจัยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า
“นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน CCUS เป็นเรื่องสำคัญ มหาวิทยาลัยต้องเข้ามามีบทบาทในการ Re-skill และ Up-skill บุคลากร พร้อมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในประเทศ”

CCUS
New S-curve ไทย
จะสร้างโอกาสแทนต้นทุน

CCUS ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นกุญแจสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนจากกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักลงทุน และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“จากมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ CCUS จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเร่งศึกษาและปรับใช้ ถ้าหากต้องการเป็นผู้นำในตลาดโลก”

เพราะอนาคตของธุรกิจไทย ไม่ใช่แค่ลดคาร์บอน แต่ต้องเปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ