เปิดจุดเช็กอินใหม่ปราจีนบุรี TCP Legacy Museum

13 พฤษภาคม 2567…ปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เปิด TCP Legacy Museum เส้นทางความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ ตำนานเครื่องดื่มให้พลังงานระดับโลก และเส้นทางแห่งความภาคภูมิใจ

13 พฤษภาคม 2567…ปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้เปิด TCP Legacy Museum เส้นทางความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ ตำนานเครื่องดื่มให้พลังงานระดับโลก และเส้นทางแห่งความภาคภูมิใจ พร้อมเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ ณ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า TCP Legacy Museum เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดให้บริการ และกลับมาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการอีกครั้งในโอกาสครบรอบปีที่ 68 ปี

“เราตั้งใจให้ตรงนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ หวังใจว่าจะมีโอกาสต้อนรับนักเรียน นักศึกษา ก่อนนี้นี้เราเปิดให้บริการมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2562 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจึงมีโอกาสในการปิดปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการนำสื่อการเรียนรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้สร้างความตื่นเต้น ปรับคอนเทนต์ให้มีความสมบูรณ์ เติมรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เข้าไปเพื่อให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วม มีความทันสมัยและมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น การเปิด TCP Legacy Museum สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว เราสามารถเปิดให้คณะบุคคล ภาคการศึกษา บุคคลทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ได้ รวมถึงมีการเตรียมสถานที่ไว้รองรับ Business Partner ของเราในอนาคต”

สราวุฒิ อธิบายเพิ่มเติมว่าที่เลือกปราจีนบุรีเนื่องจากมีโรงงานอยู่ที่นี่ อีกทั้งยังมีการลงทุนทั้งเรื่องของ Infrastructure และลงทุนด้านโรงงาน แม้กระทั่งเรื่องของ Smart Factory ก็เริ่มดำเนินการที่นี่เป็นแห่งแรก

“เราทำงานกับชุมชนมาตลอดที่นี่จึงเปรียบเสมือนบ้านที่ 2 ของเรา ที่ตรงนี้ยังมีความผูกพันกับคุณเฉลียว อยู่วิทยา ซึ่งเป็นคุณพ่อ ตอนเราทำอนุสรณ์สถานคุณเราก็มาสร้างตรงนี้ เมื่อเราตั้งใจทำมิวเซียมเราจึงมองถึงการมาลงทุนที่นี่เช่นกัน”

TCP Legacy Museum โฉมใหม่ มีการจัดแสดงแบบอินเทอร์แอ็กทิฟ ประกอบด้วย 7 โซน

1. The Legacy: พาผู้ชมย้อนกลับไปปี 2499 นำภาพแห่งความทรงจำที่ใครหลายคนคุ้นเคยกลับมาให้สัมผัสอีกครั้ง เริ่มต้นจากคุณเฉลียว อยู่วิทยา ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนขายยาและจำหน่ายยาภายใต้ชื่อ “ทีซี-มัยซิน” บุกเบิกและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของเครื่องดื่มให้พลังงานสัญชาติไทยให้ดังไกลระดับโลกกับแบรนด์ “กระทิงแดง (เรดบูล)” นำมาสู่การขยายธุรกิจภายใต้ “กลุ่มธุรกิจ TCP” ในปัจจุบัน

2. House of Great Brands: พบกับผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่หลากหลายของกลุ่มธุรกิจ TCP ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของผู้บริโภครุ่นใหม่ เพลิดเพลินไปกับเทคนิค Augmented Reality (AR) ให้ผู้เยี่ยมชมถ่ายรูปหรืออัดคลิปวิดีโอเล่นกับผลิตภัณฑ์จากหลากหลายประเทศ
3. The Original: พาไปสำรวจดินแดนก่อเกิดพลังของเครื่องดื่มกระทิงแดง (เรดบูล) เรียนรู้เรื่องราวที่สะท้อนเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานในแต่ละขวด ผ่านเทคนิคอินเทอร์แอ็กทิฟ เต็มอิ่มทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพื่อเปิดมุมมองใหม่ต่อความเชื่อที่ว่า การดื่มเครื่องดื่มให้พลังงานส่งผลต่อสุขภาพ ผ่านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องดื่ม
ให้พลังงาน

4. Factory in Focus: เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเครื่องดื่มและระบบตรวจสอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากล และทันสมัย
5. TCP Sustainability: ร่วมเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นผ่าน “กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP” ที่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการจัดการน้ำยั่งยืน

 


6. World Record: ตื่นตาตื่นใจกับรถฟอร์มูล่าวัน ภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของทีมรถแข่ง เรดบูล ฟอร์มูล่าวัน 
ขับโชว์บนถนนราชดำเนิน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2553
7. Legacy Shop: ช็อปปิ้งสินค้าที่ระลึกแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) และแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP

TCP Legacy Museum ตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานของบริษัท ที. ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ต.บางแตน 
อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี (กดแผนที่เพื่อศึกษาเส้นทาง) เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่ 10:00 – 14:00 น. ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ผู้สนใจสามารถสำรองวันที่เข้าชมล่วงหน้าได้ที่ https://tcp.com/about/tcp-legacy-museum/ รายละเอียดติดต่อ โทร. 037-239239 กด 0

“TCP Legacy Museum พิพิธภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่รวมประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มให้พลังงาน การสร้างแบรนด์กระทิงแดงและเรดบูล อันมีเอกลักษณ์โดดเด่นครองใจคนทั่วโลก การพัฒนาสินค้าให้เปี่ยมคุณภาพตามมาตรฐานสากลสู่ความเป็น House of Great Brands และการวางรากฐานองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของคุณเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ให้กำเนิดแบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) และก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ TCP อีกทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า TCP Legacy Museum จะสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดแก่นักเรียนนักศึกษา นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไป และเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีมากขึ้น”

สำหรับส่วนของความยั่งยืน สราวุฒิ กล่าวเสริมว่า ทุกปีจะมีโปรเจกต์ต่างๆและมีความคืบหน้าในด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำ แพคเกจจิ้ง กระบวนการผลิต

“เรามีเป้าหมายอยู่แล้วเราก็ดำเนินการตามโรดแมพของเรา สำหรับเป้าหมายปีนี้เรื่อง Circular Economy เราน่าจะเสร็จตามเป้าหมาย คือ ภายในปีนี้เราต้องทำให้แพคเกจจิ้งทุกตัวของเรา รวมถึงฉลากสามารถรีไซเคิลได้ 100% ซึ่งเราทำได้ทุกตัวแล้ว เหลือแค่ส่วนของบรรจุภัณฑ์ซันสแน็คไม่มากนัก”

เรื่องของการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) ยังอยู่ในช่วงของการทดลองทำ ซึ่งสราวุฒิ มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เป็นอุปสรรค คือ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ขยะหาได้ยากขึ้น เนื่องจากคนเริ่มเห็นค่าของขยะ รู้ว่าเก็บไปขายได้ราคา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง Capability ของโรงงานรีไซเคิลในเมืองไทยที่ยังน้อย บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลมีแล้ว แต่โรงงานรีไซเคิลไม่เพียงพอ เรื่อง EPR จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อแต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน

ด้านทรัพยากรน้ำ กลุ่มธุรกิจ TCP มีการส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยมุ่งจัดการน้ำภายในกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าการใช้น้ำในกระบวนการผลิต หรือ ภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยสามารถคืนน้ำกลับคืนสู่สังคมมากกว่าที่ใช้แล้ว กำลังเดินหน้าสู่การทำในโรงงานอื่นๆที่อยู่ต่างประเทศ

เรื่องที่ท้าทายที่สุดคือการไปสู่เป้าหมายของการเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ซึ่ง สราวุฒิ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP จะสามารถลดคาร์บอนได้ในทุกปี แต่ต่อปีก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่าตัวเลขลดลงได้มากกว่าเดิมอีกได้อย่างไร

“อย่างเรื่องของโซล่าร์เซลล์ส่วนที่ติดได้เราติดไปหมดแล้ว อีกหนึ่งความท้าทายคือเรื่องของการใช้รถขนส่งที่เป็น EV ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทที่ทำก็ยังอยู่ในช่วงของการทดลอง เพราะยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า EV เป็นโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาจริงหรือไม่ ต้องมีการพูดคุยกันว่าควรจะหาวิธีการอย่างไรให้ยั่งยืนจริงๆ”

สำหรับโรงงานปัจุบันโรงงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ในประเทศไทย มีจำนวน 8 โรง ในจังหวัดปราจีนบุรี มีกำลังการผลิต 100% อยู่ที่ 1,720 ล้านลิตร ต่อปี แต่ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเพียง 60% หรือประมาณ 1,550 ล้านลิตร โดยมี Smart Manufacturing จำนวน 1 โรงงาน ซึ่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต ลดแรงงาน ลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยภายในปีนี้จะมีการเพิ่ม Smart Manufacturing อีกในอนาคต