NEXT GEN

50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างโอกาส ควบคู่กับการสร้างสมดุลให้สังคม สิ่งแวดล้อม

31 พฤษภาคม 2567…ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาธุรกิจและตลาดทุนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการระดมทุนสำหรับธุรกิจทุกขนาด ทั้งในภาวะปกติและวิกฤต จนปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 850 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า17.4 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องล่าสุดที่กว่า 5.8 ล้านบัญชี และพัฒนาสินค้าบริการที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนทุกกลุ่ม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงต่างประเทศในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น DR DRx ETF DW พร้อมการวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนด้าน ESG เพื่อสร้างสมดุลให้สังคม สิ่งแวดล้อม

 

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 และก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงาน ปีนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนแห่งอนาคตที่สนับสนุนผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยกำหนดแนวคิดสำหรับการก้าวสู่ปีที่ 50 ว่า Make it “Work” for Every Future – ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน

“ภาพรวมมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดโตขึ้นต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ  5.3 หมื่นล้านบาท ปริมาณ IPO ในตลาดทุนไทยอยู่ที่ 40-50 บริษัทต่อปี และนอกจากนั้นมูลค่าในการระดมทุนอยู่ประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญ ต่อปี ซึ่งค่อนข้างคงที่และเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูงมากในเอเชีย ถือเป็นอันดับต้นๆในเอเชีย”

ก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดร.ภากร มองว่า เนื่องจากตลาดทุนจะยังพบความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ความต้องการของภาคธุรกิจและผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องเดินหน้าสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน

 

โดยมุ่งไปสู่ 5 เป้าหมายสำคัญ คือ ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค ทั้งในด้านการเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มทางเลือกการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกตลาดทุนไทย ขยายโอกาสการระดมทุน ให้บริษัททุกขนาดในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ (Mega Family Business) บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New Economy) และ SMEs Startups พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนา Data Platform สำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Pools) นำมาต่อยอดเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ (Data Analytics) พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัลเข้ามาเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนยุคใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่แข็งแกร่ง โดยพิจารณาในการนำเทคโนโลยี AI และ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนางานในหลายด้าน ขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability) ในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเตรียมบริษัทจดทะเบียนผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุนให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นความยั่งยืนและพัฒนาการของกฎเกณฑ์กำกับใหม่ ๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดร.ภากร ให้ขอสังเกตว่าหลายปีที่ผ่านมาเรื่องที่น่าสนใจคือการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และทำเรื่องความยั่งยืนได้ค่อนข้างดี จะเห็นได้จาก Dow Jones Sustainability Indices มีบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดนในปี 2566 มีบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 28 บริษัท จากเดิมอยู่ที่ 26 บริษัทในปี 2565

“การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนถือเป็นจุดแข็งของตลาดทุนไทย หากจำได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1997 ที่เราต้องการออกไประดมทุนในต่างประเทศ แล้วนักลงทุนต่างประเทศถามถึงด้านบรรษัทภิบาล ในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง นักลงทุนต่างชาติต้องการทำธุรกิจที่แข็งแรงและยั่งยืน ประเทศไทยจึงมีการตั้ง CG Center เพื่อสนับสนุนและเผยแพร่หลักการด้านบรรษัทภิบาล หลังจากนั้นก็มองเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนในไทยทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี และขยายการทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่ดูแลเรื่อง ESG ได้ครอบคลุมทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล”

ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย 193 แห่ง ที่เข้ามาขอ ESG Rating จากตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 121 บริษัทไทยที่อยู่ใน ESG Index จากทั้งหมด 850 บริษัท ยิ่งไปกว่านั้นใน Index Provider ระดับโลก มีถึง 41 บริษัทที่อยู่ใน FTSE4Good และ 39 บริษัท อยู่ใน MSCI  และ 28 บริษัทอยู่ใน DJSI นอกจากนั้นไทยยังมีบริษัทถึง 12 แห่ง ซึ่งเป็นที่ 1 ในโลกในด้านของ ESG Practices จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น SCC SCGP PTTGC TRUE TU VGI AWC BJC เป็นต้น ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก

เรื่องของความยั่งยืนมีหลากหลายประเด็นที่บริษัทต่างๆต้องคำนึงถึงไม่ใช่แค่เรื่องบรรษัทภิบาล หรือ ตัว G แต่ยังหมายถึงเรื่อง S สังคม และ E ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

คร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทรรศนะว่าปัจจุบันคนมีความกังวลเรื่องของ Climate Change งานด้าน ESG จริงต้องมีการทำอย่างต่อเนื่องอาจจะมีการเปลี่ยนหัวข้อใหม่ๆ แต่สิ่งที่ต้องทำคือการสร้าง Awareness กับเทรนด์ใหม่ๆที่จะเข้ามาแน่นอนในอนาคต คือ เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการวัด หรือเรื่องของ Human Right หรือเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการพูดถึงกันอย่างมากในเวทีต่างๆในต่างประเทศ

 

“หาก บจ. ไม่เตรียมพร้อมเรื่องพวกนี้ จะเป็นข้อกีดกันทาการค้า เราจึงมีหน้าที่ในการสร้างการรับรู้ โปรโมทไกด์ไลน์ให้บริษัทต่างๆเริ่มทำ ในเดือนหน้าจะมีการเปิดตัว Carbon Calculator ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามสร้างเครื่องมือในการคำนวน Carbon เป็นโครงการนำร่องก่อน นอกจากนี้เรายังต้องสร้างบุคคลากรด้าน ESG เพิ่มขึ้น ปัจจุบันเรามีบุคลากรด้านนี้ที่อยู่ในเครือข่ายของเรา 240 คน ซึ่งไม่สามารถรองรับบริษัทในตลาดที่มี 850 คนได้ เราต้องสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และบุคลากรเหล่านี้ต้องมีการอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา”

ด้านสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามเน้นให้ความรู้ในด้านการเงินเพื่อให้คนมีความรู้ด้านการลงทุน สามารถวางแผนในการเกษียณ หรือวางแผนการเงินในอนาคตได้อย่างดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกให้ลงทุนซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จากนั้นขยายผลไปสู่การลงมือจริง โดยมีเครื่องมือที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Happy Money App, SET Fin Quizz, SET e-Learning, SET Fin Lab เป็นต้น เพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรม สร้างความยั่งยืนในการมีพฤติกรรมและวินัยทางการลงทุนที่ดีในอนาคต

 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯมีการวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนด้าน ESG ไว้ 4 เรื่อง คือ

-ESG in Action ส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่าน advisory programs wร้อมสนับสนุนเครื่องมือ เช่น guidelines และ manuals
-ESG Investment ส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนอย่างยั่งยืนใน ตลาดทุนและพัฒนา ESG Products ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน
-ESG Tech and Infrastructure พัฒนาระบบงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อ สนับสนุนระบบนิเวศ ESG เช่น ระบบ SET ESG Data Platform
-ESG Academy ร่วมมือพันธมิตรเพื่อขยายความรู้และหลักสูตร ด้าน ESG ในวงกว้าง พร้อมบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญ ด้าน ESG สู่ตลาดทุน

 

ดร.ภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เป้าหมายอนาคตของผู้ออมและผู้ลงทุน เป็นกลไกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและอนาคตของสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

 

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2567-2568 ภายใต้วาระตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ปีที่ 50 จะมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดพัฒนาการตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ นิทรรศการ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ห้องสมุดมารวยหนังสือ 50 ปี “5 Decades of SET” และจัดทำซีรีส์สื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริม ESG ทั้งด้านการขับเคลื่อนภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้านสังคมที่มีการดูแลกลุ่มเปราะบางโดยสนับสนุนรถพยาบาลแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด็กและเยาวชนด้วย Financial Literacy และส่งเสริมสุขภาวะประชาชนผ่านกีฬาเทเบิลเทนนิส และด้านการส่งเสริม CG ภาคธุรกิจ การประกวดงานวิจัยด้าน ESG ที่จะมีขึ้นในปีนี้รวมทั้งการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

You Might Also Like