28 ตุลาคม 2567…TikTok ปลุกกระแส “Underconsumption Core” ในกลุ่มนี้เพราะแรงผลักดันจากอำนาจซื้อ Gen Z และคนรุ่น Millennials ลดลง แต่จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมกลับพุ่งปรี๊ด
เทรนด์ใหม่ของ TikTok ที่เรียกว่า “Underconsumption Core”กำลังได้รับความนิยมทางออนไลน์ เทรนด์นี้สนับสนุนความเรียบง่าย ประหยัด ซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ท้าทายวัฒนธรรมบริโภคนิยม
แทนที่จะโชว์เสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือชั้นวางของในตู้เย็นที่ล้นออกมา ผู้ใช้ TikTok กลับโพสต์วิดีโอโชว์ของจากร้านมือสอง ตู้เสื้อผ้าเรียบง่าย ของใช้ในชีวิตประจำวันมือสอง ใช้งานได้จริง
การเพิ่มขึ้นของกระแสนี้เชื่อมโยงความท้าทายหลายเรื่องที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญในปัจจุบัน รวมถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงกดดันทางสังคม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคนรุ่น Gen Z และคนรุ่น Millennial ที่อายุน้อยกว่าโดยเฉพาะ เป็นกระแสลดการจับจ่ายใช้สอยตรงข้ามชัดเจนกับความฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะเมื่อ Influencer ทำให้เป็นเรื่องปกติ
ตามข้อมูลของ Education Data Initiative ยอดหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาลกลางโดยเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 37,574 ดอลลาร์ต่อผู้กู้หนึ่งราย หนี้สินของนักศึกษาเป็นภาระทางการเงินสำคัญ กดดันการใช้จ่ายของผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีเงินเฟ้อซึ่งกัดกร่อนอำนาจซื้อของคนรุ่น Gen Z ต่อไป แม้จะมีสัญญาณการบรรเทาทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในแคนาดา แต่ผลกระทบสะสมจากราคาสินค้าที่สูงยังคงกดดันการใช้จ่ายของคนหนุ่มสาว
การคุมการใช้จ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้ และการปรับตัวต่อความเป็นจริงทางเศรษฐกิจเหล่านี้ แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียว ปัจจัยกระตุ้นอีกเรื่องดูเหมือนจะเป็นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
การบริโภคหมู่มากก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ รวมถึงการสร้างขยะจำนวนมหาศาล ในทะเลทรายอาตากามาของชิลี มีเสื้อผ้าใช้แล้วประมาณ 11,000 ถึง 59,000 ตันถูกฝังกลบ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งว่าการบริโภคมากเกินไปกำลังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
รายงานจาก ThredUp แพลตฟอร์มออนไลน์ขายของเก่ามือสอง พบว่า
65 % ของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z ต้องการจับจ่ายใช้สอยอย่างยั่งยืนมากขึ้น
หนึ่งในสามรู้สึกว่า “ติดฟาสต์แฟชั่น”
72 % กล่าวว่า ปี 2022 พวกเขาซื้อฟาสต์แฟชั่น ปีเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ฮัลแลม พบว่า 90%ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซื้อฟาสต์แฟชั่น
แต่ผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันจำนวนมากยังคงกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืน และกำลังแสวงหาวิธีที่จะมีความรับผิดชอบมากขึ้น การศึกษาล่าสุดพบว่า ทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านแฟชั่น Gen Z พึ่งพาโซเชียลมีเดียเป็นแรงบันดาลใจในการจับจ่ายเป็นอย่างมาก เมื่อผู้บริโภครุ่นเยาว์ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจซื้อ พวกเขาสนใจเนื้อหาแฟชั่นยั่งยืนมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้บริโภคสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมกว้างขึ้นที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์มารี คอนโด” ซึ่งตั้งชื่อตามที่ปรึกษาด้านการจัดระเบียบชาวญี่ปุ่น เธอสนับสนุนให้เก็บเฉพาะสิ่งของที่มีคุณค่าและความสุขเท่านั้น อิทธิพลของ Kondo ได้จุดประกายความสนใจเพิ่มมากขึ้นกับการจับจ่ายใช้สอยแบบตั้งใจ
สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าในบางกรณี พฤติกรรมการบริโภคอย่างยั่งยืนอาจขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัวมากกว่าแรงจูงใจที่เสียสละอย่างแท้จริง การเลือกบริโภคน้อยลงหรือมีสติมากขึ้น คนอายุน้อยกว่าสามารถแสดงภาพลักษณ์ของความเอาใจใส่ ความรับผิดชอบ มีเอกลักษณ์ เป็นคุณสมบัติที่ได้รับการยกย่องมากขึ้นในโซเชี่ยลมีเดีย
ด้านหนึ่ง นิสัยการจับจ่ายใช้สอยที่ดีเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าระยะยาวจะทำอย่างไร มี 2 กลยุทธ์หลักที่สามารถใช้ได้
หาวิธีสร้างสมดุลระหว่างความประหยัดและคุณภาพชีวิต เพื่อให้ความเป็นอยู่โดยรวมดีเหมือนเดิม ผลวิจัยยังแนะนำว่าการผสมผสานการใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ (เช่น การเดินทาง) และการซื้อสิ่งของ (เช่น สมาร์ทโฟนเครื่องใหม่) สามารถให้ความสุข และความพึงพอใจมากขึ้น
อย่าทิ้งการซื้อสิ่งของโดยสิ้นเชิงเพื่อแลกกับประสบการณ์ใหม่ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น แนวทางที่รอบคอบซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายทั้งสองประเภท แม้การจับจ่ายรวมลดลง ก็มีแนวโน้มนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แนวทางนี้เน้นการบริโภคอย่างมีสติมากกว่าการจำกัดการใช้จ่ายแบบเหมาเข่ง
พยายามเน้นการพัฒนาความรู้ทางการเงิน เริ่มต้นด้วยการจัดทำงบประมาณ เพื่อให้แน่ใจว่าสนองความต้องการพื้นฐานและค่าใช้จ่ายพื้นฐานแล้ว พยายามเข้าใจประเภทของผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงินที่เหมาะกับความต้องการเฉพาะ ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการบริโภคมากเกินไป สามารถเลือกสิ่งที่สนับสนุนเสถียรภาพการเงินระยะยาว
ผู้มีความรู้ทางการเงินสูงจะสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการและค่านิยมของตนเองได้ดีกว่า แทนที่จะตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่เน้นขายของ หรือฟีเจอร์ไม่จำเป็น ซึ่งอาจทำให้ใช้จ่ายเกินตัว เช่น ผู้บริโภครุ่นใหม่มีแนวโน้มใช้จ่ายกับบัตรเครดิตที่มีรางวัลตอบแทนน่าดึงดูดใจ ส่งผลให้ใช้จ่ายมากเกินไป ระยะยาวมีเงินใช้จ่ายจำกัด
แม้กระแสการจับจ่ายน้อยๆมีประโยชน์ แต่จุดสำคัญคือต้องจัดการอย่างสมดุล แม้การผสมผสานนิสัยการใช้จ่ายที่ดีเข้ากับความรู้ทางการเงินสำคัญ แต่ควรเลือกอย่างมีข้อมูลที่สอดคล้องกับค่านิยมและเป้าหมายส่วนบุคคล หากทำถูกต้อง การบริโภคน้อยอาจนำไปสู่เสถียรภาพทางการเงิน และวิถีชีวิตที่มีจุดหมายมากขึ้นได้