10 กุมภาพันธ์ 2568…สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยย้ำว่า ESG ไม่ใช่เพียงโครงการเพื่อสังคม (CSR) แต่เป็นการบูรณาการแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาว
“ESG คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริงในธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่ภาพลักษณ์หรือการบริจาคเงิน แต่หมายถึงการลงทุนและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ”
สาระกล่าวต่อเนื่อง Governance คือหัวใจสำคัญของธุริจประกันชีวิต หากบริษัทไม่โปร่งใส คนก็ไม่เชื่อใจ และนั่นจะส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจ ส่วน Social ทุกกรมธรรม์ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรง สุดท้าย Environment ประกันชีวิตเกี่ยวอะไรด้วย? เกี่ยวข้องมาก ในฐานะผู้ถือเงินที่จะลงทุนตามกฎหมาย ต้องลงทุนพันธบัตร จะต้องเลือกบริษัทที่ไม่ลงทุนใหม่กับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ถ้าอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Energy จะสามารถลงทุนได้ และหลายบริษัทต้องการเงินทุนด้านนี้
การรับมือกับความท้าทาย
Scope 3
เมืองไทยประกันชีวิตให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน Scope 1 และ Scope 2 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานภายในองค์กร เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการบริหารจัดการขยะ แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือ Scope 3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนของบริษัท
“Scope 3 เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับการลงทุนในสินทรัพย์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เราต้องหาสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
สาระกล่าวเสริม พร้อมระบุว่าบริษัทกำลังเร่งดำเนินกลยุทธ์ Transition Finance ซึ่งมีความใกล้เคียงกับที่ธนาคารกำลังเร่งเรื่องนี้ โดยเฉพาะจาก Brown ไปสู่ Less Brown ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตสามารถลงทุนในบริษัทธนาคารเลือกไว้แล่ว เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ
เมืองไทยประกันชีวิต
เป้าหมาย Net Zero
ด้วยความมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย Net Zero บริษัทตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ 2 ให้ได้ภายในปี 2030 และมีแผนรองรับ Scope 3 อย่างเป็นขั้นตอน โดยสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการบรรลุ Net Zero ภายในปี 2065
“เราต้องทำงานอย่างต่อเนื่องและร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ESG ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นพันธกิจที่เรายึดมั่นเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน” สาระสรุป
มาตรฐาน IFRS S2
Climate Related Disclosures
นอกจากแนวทาง ESG แล้ว เมืองไทยประกันชีวิตยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินตามแนวทางของ IFRS (International Financial Reporting Standards) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของงบการเงินในการลงทุนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และเปิดเผย
“ดังได้กล่าวแล้ว Governance คือหัวใจสำคัญของ ESG หากเราไม่โปร่งใส คนก็ไม่เชื่อใจ และนั่นจะส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจ เราจึงให้ความสำคัญกับ *มาตรฐาน IFRS S 2 เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมั่นใจในข้อมูลทางการเงินของเรา แม้ว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้น”
เมืองไทยประกันชีวิตเดินหน้าตามกลยุทธ์ “Boost Your Happiness by Our People” และประสบการณ์การบริการแบบไร้รอยต่อ ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนารอบด้านอย่างมั่นคง ยั่งยืน โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นสำคัญ
*IFRS S2 กำหนดให้หน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อกระแสเงินสด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือต้นทุนของเงินทุนในระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว (เรียกรวมกันว่า “ความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจของหน่วยงาน”)