1 มีนาคม 2568…กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ มุ่งกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะบางและผู้ที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะประชากรในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และชุมชนชายขอบที่เผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
“วันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่คือความอยู่รอดของประชาชน การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน เราต้องเพิ่มขีดความสามารถของพวกเขาให้สามารถปรับตัวได้”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการ TEI เปิดเผยถึงกรอบนโยบายที่พัฒนาเพื่อรองรับกลุ่มเปราะบาง โดยมี 4 แนวทางหลัก ได้แก่:
1.สนับสนุนการปรับตัวระดับชาติ สร้างมาตรการช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
2.พัฒนากลไกช่วยเหลือภายใน พม. เพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานที่ดูแลกลุ่มเปราะบาง
3.จัดทำฐานข้อมูลและสารสนเทศ จัดระบบข้อมูลประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
4.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือและการปรับตัวเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. เสริมว่า สถานการณ์ภัยพิบัติในไทยรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประชากรกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด จำเป็นต้องมีแผนคุ้มครองทางสังคมที่ตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลจากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง