NEXT GEN

ลดคาร์บอน = เพิ่มโอกาส New S-curve ไทยกับ CCUS เทคโนโลยีเปลี่ยนเกม

14 มีนาคม 2568…สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จับมือภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ตั้ง Thailand CCUS Alliance (TCCA) เร่งผลักดัน เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้าง New S-curve ทางเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  CCUS ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม แต่คือโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย

“เรากำลังพูดถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ และเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศแทนการนำเข้า”

ปัจจุบัน CCUS เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เช่น สหภาพยุโรป

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนจะส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ (NDC 3.0) ในปี 2568 ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบของแต่ละประเทศในการรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 โลกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงกลางศตวรรษ

โดยเป้าหมายใหม่ของ NDC 3.0 ที่จะต้องเข้มข้นขึ้นจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าโลกสามารถลดการปล่อยก๊าซได้ทันหรือไม่ สำหรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ หรือ LT-LEDS ในสาขาพลังงาน ได้กำหนดให้ต้องมีการนำ CCUS / BECCS เข้ามามีบทบาท ภายในปี ค.ศ. 2040 และ NDC Action plan ได้บรรจุมาตรการและค่าเป้าหมายการลด GHGs รายปี ในสาขาพลังงาน ของกลุ่มที่ 3 โครงการนำร่อง CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ โดยมีค่าเป้าหมายในปี ค.ศ. 2027 – 2030 อยู่ที่ 0.25, 1.0, 1.0, 1.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี (MtCO2/y) ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการศึกษา CCUS Roadmap ของ สกสว. ระบุความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี CCUS ที่มีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2050 อยู่ที่ 50-150 ล้านตันต่อปี (Mtpa) ซึ่งจะทำให้ CCUS เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถนำพาประเทศไทยเข้าใกล้ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วยิ่งขึ้น

“การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการพัฒนากลไกสนับสนุนที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการภาษีและการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆ รวมทั้งเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ อย่างไรก็ตามกรณีเงินสนับสนุนนั้นมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรจุอยู่ในกรณีการขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ หรือ Conditional เพื่อให้เจ้าของแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ เล็งเห็นความสำคัญและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน อีกทั้งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความท้าทาย ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”  

CCUS
นวัตกรรมเปลี่ยนโลก
อุตสาหกรรมไทยพร้อมหรือยัง?

ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการ นาโนเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า “การรวมตัวเป็นเครือข่ายระดับประเทศ เช่น TCCA จะช่วยให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการลงทุน ลดระยะเวลาดำเนินงาน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนสนับสนุนระดับนานาชาติ”

การมี โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่รองรับ CCUS จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย สามารถแข่งขันในตลาดที่มีมาตรฐานคาร์บอนเข้มงวด

นาวา จันทนสุรคน รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า “CCUS ไม่ใช่แค่ช่วยลดภาระภาษีคาร์บอน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ลดต้นทุนค่าปรับ และเปิดโอกาสใหม่ในตลาดพลังงานและเชื้อเพลิงสังเคราะห์”

ก้าวต่อไป
พัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ
แทนการนำเข้า

ภายใต้การสนับสนุนของ บพค. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม) โครงการ TCCA ได้เริ่มต้นแล้ว และจะเดินหน้าสู่การพัฒนาโครงการระดับชาติ

 

ดร. ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ หัวหน้าโครงการ TCCA กล่าวว่า  “เราต้องการให้ CCUS เป็นมากกว่าการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ แต่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเอง สร้างบุคลากรทักษะสูง และวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำของไทย”

รศ.ดร. สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล หัวหน้าศูนย์วิจัยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า
“นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน CCUS เป็นเรื่องสำคัญ มหาวิทยาลัยต้องเข้ามามีบทบาทในการ Re-skill และ Up-skill บุคลากร พร้อมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในประเทศ”

CCUS
New S-curve ไทย
จะสร้างโอกาสแทนต้นทุน

CCUS ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นกุญแจสำคัญในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนจากกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักลงทุน และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“จากมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ CCUS จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเร่งศึกษาและปรับใช้ ถ้าหากต้องการเป็นผู้นำในตลาดโลก”

เพราะอนาคตของธุรกิจไทย ไม่ใช่แค่ลดคาร์บอน แต่ต้องเปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ

You Might Also Like