ACTIVITIES

ปฎิญญาเกาะเต่าครั้งแรกในไทย

13 มิถุนายน 2566… ภาคีชาวเกาะ 21 เกาะสานพลัง 23 องค์กร ประกาศปฎิญญาเกาะเต่า มุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ร่วมปกป้องทะเลในวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day)ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายนที่ผ่านมา

จาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว นันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณรงค์ฤทธิ์ ทองนวล กำนันตำบลเกาะเต่า ร่วมกับตัวแทนผู้นำ 5 เกาะ อังคณา ธเนศวิเศษกุล รองประธาน มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนภูเก็ต ธีระศักดิ์ สรวมชีพมาเสือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด-เกาะช้าง รัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย วิชิต ยะลา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา พลับพลึง เพิ่มทรัพย์ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะกูด และโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การตลาดและนวัตกรรม กลุ่มเดนท์สุ ร่วมกันเปิดเผยถึง ปฎิญญาเกาะเต่าครั้งแรกในไทย เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องในวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day)ที่ หาดทรายรี ตำบลเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยมีกรมการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า เทศบาลตำบลเกาะเต่า ร่วมกับประชาคมชาวเกาะ จำนวน 21 เกาะ ประกอบด้วย เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะทะลุ เกาะพิทักษ์ เกาะพะลวย เกาะพยาม เกาะภูเก็ต เกาะราชา เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะพระทอง เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี เกาะปู เกาะจัม เกาะลิบง เกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่า และองค์กรภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ จำนวนกว่า 23 องค์กร ร่วมประกาศ “ปฎิญญาเกาะเต่า”

ทั้งนี้ เกาะเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ และสะสมชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่พบเฉพาะถิ่นมากที่สุด ซึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่วิกฤติทางความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อภาวะคุกคามสูง และ เกาะยังเป็นจุดหมายปลายทางเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภาคชุมชน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้และเติบโตจากระดับฐานราก เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ และต้องยอมรับว่า ภาวะโลกรวน ก่อให้เกิดมลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และโรคอุบัติใหม่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

การประกาศปฏิญญาเกาะเต่า ในวันมหาสมุทรโลกที่ผ่านมา คือการเปิดมิติใหม่ของการพัฒนาและการจัดการเกาะท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ตามกิจกรรมเชิงสัญญลักษณ์ ที่มีการส่งมอบบ้านปลาให้ชาวประมง เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เสมือนเป็นการปักหมุดแสดงการปกป้องทรัพยากรทางทะเล เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลและวิถีชีวิตของชุมชนชาวเกาะ ในวันที่ระดับน้ำทะเลกำลังเปลี่ยนไป

ปฏิญญาเกาะเต่า มีสาระสำคัญ 10 ข้อ คือ

1.จัดทำแผนและดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
2.ดำเนินการตามมาตรฐานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
3. ดำเนินการวัดและเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะ
4. ดำเนินการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคการท่องเที่ยวเกาะ ซึ่งรวมถึงการขนส่ง สาธารณูปโภค ที่พัก กิจกรรม อาหารและเครื่องดื่ม และการจัดการขยะ ให้เป็นรูปธรรม
5. ดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวเกาะ ตามข้อกำหนดขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และหน่วยงานในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง
6.สนับสนุนหรือดำเนินโครงการคุ้มครองและฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) สำหรับการท่องเที่ยวเกาะ
7.ดำเนินการจัดการขยะและของเสียบนเกาะโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
8. ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเกาะที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
9. ส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะ ทั้งในด้านการแบ่งปันข้อมูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงานร่วมกัน การแบ่งปันผลประโยชน์ การคุ้มครองกลุ่มเปราะบางและชุมชนท้องถิ่น
10.ส่งเสริมการดำเนินงานที่สนับสนุนด้านการเงินอย่างยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

CORAL REEF REHABILITATION

 

ภาคเอกชนกลุ่มเดนท์สุ และ บริษัทในเครือฯ ได้ร่วมผนึกพลังในฐานะที่ปรึกษาแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการพัฒนาความยั่งยืน 3 มิติของบริษัท ได้แก่ รู้รักษ์โลก (PLANET) ปลุกสำนึกผู้คน (PEOPLE) และ เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร (PARTNERING) จะสามารถผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์วาระระแห่งชาติ ‘Net Zero Emissions’ พร้อมยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยสู่การเป็น Sustainable Tourism Destination ผสานรวมเข้ากับแนวคิด BCG Economy โมเดลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้สำเร็จครอบคลุมทุกมิติ

 

You Might Also Like