27 มกราคม 2562…ผู้ใช้เฟซบุก Chak Sangma ได้เผยแพร่ข้อมูล เอาใบไม้ใกล้ ๆ ที่ทำงาน มหาวิทยาลัยเกษตรฯ มาหาขนาดของฝุ่น pm 2.5 พบอะไรบ้าง
ผมให้ลูกศิษย์ (คุณชมพูนุช ตันเจริญ Nuch Cassiopia) เอาใบไม้ใกล้ ๆ ที่ทำงาน มหาวิทยาลัยเกษตรฯ มาหาขนาดของฝุ่น pm 2.5 ให้เด็กเก็บเริ่มมาจากต้นไม้ริมถนนใหญ่แล้วขยับมาด้านในเรื่อย ๆ งานนี้แค่สำรวจเบื้องต้น เอาใบไม้มาล้างด้วยน้ำแล้วเอาน้ำที่ได้ไปวัดด้วยเครื่องมือวัดขนาดอนุภาคในห้องแลบ ศูนย์นาโน ฯ ของ ม เกษตร ได้ผลสรุปได้ดังนี้ครับ
อนุภาคที่เจอเกือบทั้งหมดเป็นอนุภาคที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ 2500 nm (เครื่องที่วัดใช้หน่วย nm) ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ ต่ำกว่า 0.4 ไมครอน (400 nm) ลงมา ตามมาตรฐานการวัดบ้านเราจะรายงานกลุ่มที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอนทุกขนาดอยู่ในกลุ่มนี้ ใบไม้แต่ละชนิดมีฝุ่นที่น้ำชะออกมาได้ขนาดต่างกัน ดังนั้นถ้าจะดักฝุ่นให้ได้ครบเราควรปลูกต้นไม้หลายชนิดในบริเวณ
ประเด็นที่น่าสนใจต่อไป คือว่า อนุภาคยิ่งเล็กยิ่งเข้าไปในปอดได้ลึกมากขึ้น นั่นแปลว่าฝุ่นเหล่านี้อันตรายมากกว่า ส่วนใหญ่ที่มาน่าจะมาจากไอเสียรถยนต์ดีเซล เพราะไม่มีแหล่งอื่นที่น่าจะเป็นไปได้ ปัญหาเขม่าสามารถลดลงจนเกือบจะไม่มีได้ถ้ารถมี ตัวกรองเขม่าดีเซล (Diesel Particle Filter, DPF)
รถเครื่องดีเซลบ้านเราเกือบทั้งหมดเป็นรถกระบะซึ่งไม่มี DPF ไม่มีการบังคับติดตั้ง จะมีก็อยู่ในรถนั่งบุคคลที่ใช้เครื่องดีเซล อย่างมาสด้า CX-5 Diesel หรือ รถยุโรป ที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ขึ้นไป(ไม่งั้นจะมีอาการ DPF ตัน) ที่บ้านเราขายเป็นน้ำมันพรีเมี่ยม ถ้าปรกติจะเป็นยูโร 4 ที่กำหนดค่าฝุ่นที่ปล่อยออกไว้สูงกว่า ยูโร 5 อยู่ 5 เท่า รถนั่งดีเซลบางคันก็ขี้เกียจเสียค่าซ่อม DPF ก็เอาออกไปได้เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้มี (แต่ถ้าเป็นต่างประเทศจะถูกปรับสูงมาก)
ข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนการกลั่นน้ำมันเป็นยูโร 5 ทั้งหมดก็ราวปี 2567 อีกร่วม 5 ปี แต่ทั้งนี้ถ้าไม่บังคับรถกระบะมี DPF ก็เปล่าประโยชน์ แต่ตอนนี้ถึงบังคับที่รถยนต์ก็ไม่มีน้ำมันที่ว่าเติม
ถ้าต้องการลด pm2.5 เร่งด่วน ทางหนึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เร่งทำการผลิตน้ำมันดีเซลให้เป็นยูโร 5 ทั้งหมด พร้อมกับบังคับรถดีเซลทั้งหมด ทยอยทำจากรถกระบะออกใหม่ ให้มี DPF เพราะถ้าไม่มีลูกค้าน้ำมันเกรดนี้มากโรงกลั่นก็คงไม่เห็นความจำเป็นต้องกลั่นออกมา แต่ทำไมไม่มีใครเสนอประเด็นนี้ ผมไม่เข้าใจ