ACTIVITIES

อีกหน้าที่มหาวิทยาลัย ไม่ร่วมสร้างความเสี่ยง “โรคอ้วน+เบาหวาน”

28 สิงหาคม 2562…ปัญหาด้านสุขภาพของประชาคมมหิดล ควรมาจากการมีสุขภาพที่ดี และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย


นอกจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อย่างโครงการลดใช้ถุงพลาสติกภายในมหาวิทยาลัย ที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูงแล้วนั้น ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ยังเล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาด้านสุขภาพของประชาคมมหิดล ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้เปิดตัวโครงการ “รณรงค์ลดเครื่องดื่มประเภทที่มีน้ำตาลและลดใช้แก้วพลาสติก” โดย ศาสตราจารย์ ายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯซึ่งเป็นการผนวกรวมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นสุขภาพ ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมมาอยู่ภายใต้โครงการเดียว เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมมหิดลได้มีองค์ความรู้รอบด้าน ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ และรักโลกไปพร้อมกัน เพื่อเป้าหมายในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งตนเองและคนอื่น ๆ ในสังคม

โครงการฯ ดังกล่าว จะเริ่มต้นโดยการแสวงหาความร่วมมือจากร้านค้าต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ที่มีการขายเครื่องดื่มและใช้แก้วพลาสติก จากนั้นทางโครงการฯ จะขอความร่วมมือติดตั้งสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูล และตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเลือกลดระดับน้ำตาลในเครื่องดื่ม และเลือกใช้แก้วพกพามากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ดังกล่าวว่า

“คนในยุคปัจจุบันมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก บางครั้งเราก็คำนึงถึงความสะดวกสบายมาก่อน และลืมใส่ใจตัวเองและสิ่งรอบตัว ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีองค์ความรู้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การแพทย์ การโภชนาการ จึงพยายามผลักดันให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบร่วมกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย รวมถึงพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ”

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ  แสดงมุมมองเรื่องสุขภาพที่ควรลดความหวานว่า

“เพื่อสุขภาพที่ดี เราควรรู้จักนับปริมาณน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้เผลอบริโภคมากเกินไป ซึ่งน้ำตาลเหล่านี้มักจะแฝงอยู่ในเครื่องดื่ม อาหาร และขนมต่าง ๆ โดยปกติแล้วร่างกายจะนำพลังงานจากน้ำตาล มาใช้ในกระบวนการเผาผลาญ หากกินมากเกินไปร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินเป็นไขมันสะสม ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้”

ผู้ใหญ่ควรบริโภคน้ำตาลที่เติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 24 กรัม) ส่วนเด็กไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 16 กรัม) โดย 1 ช้อนชาเท่ากับ 4 กรัม

สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2564 และสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย

 

 

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply