ALTERNATIVE

“โรคหืด” ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19

8 พฤษภาคม 2564… จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าผู้ป่วยโรคหืดใน cohort หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่อาจพบความรุนแรงของโรคปอดอักเสบมากกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีโรคหืด

ข้อมูลจาก “วันโรคหืดโลก : World Asthma Day 2021” ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) และองค์การหืดโลก กำหนดให้ปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ปลดล็อคความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหืด : Uncovering Asthma Misconception”

ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย(TAC) และ รศ. นพ. ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) ร่วมกันให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหืด 4 เรื่อง

1.โรคหืดเพิ่มความเสี่ยง
ในการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

คำตอบคือ ไม่จริง จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าผู้ป่วยโรคหืดใน cohort หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่อาจพบความรุนแรงของโรคปอดอักเสบมากกว่าผู้ป่วย โควิด-19 ที่ไม่มีโรคหืด และพบว่าปัจจัยเรื่องตัวรับเชื้อไวรัสในผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับยาสูดพ่นคอน์ติโคสเตียรอยด์ ลดลง ดังนั้นโรคหืดจึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และการรักษาโรคหืดด้วยยาสเตียรอยด์สูดพ่นเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โควิด-19

2.โรคหืดเป็นโรคติดเชื้อ
สามารถติดต่อกันได้

คำตอบที่ถูกต้อง คือ โรคหืดไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่การติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ทำให้อาการหืดกำเริบ หรือมีอาการแย่ลงได้ การรักษาโรคหืดด้วยยาสูดพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

3.โรคหืดมีการรักษาต้องใช้ยาสเตียรอยด์ที่สูดพ่นในขนาดสูง
เพื่อรักษาโรค

คำตอบคือ ไม่จริง การรักษาโรคหืดมีการปรับลดยา ขนาดของยาควบคุมโรคหืดสามารถจะปรับ ขึ้นๆ ลงๆ ตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดเองในผู้ป่วยเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้

4.โรคหืดทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้
และไม่ควรออกกำลังหากผู้ป่วยมีโรคหืด

คำตอบคือ ไม่จริง การออกกำลังกายช่วยให้อาการหืดดีขึ้น แต่โรคหืดอาจแย่ลงในผู้ป่วยบางรายหลังออกกำลังกาย ซึ่งเป้าหมายในการรักษาโรคหืด นอกจากทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการแล้วยังต้องทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการออกแรงเหมือนคนปกติทั่วไปที่ไม่มีโรคหืดอีกด้วย

โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นโรคที่เกิดจากภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ทั้งจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง ตีบแคบเป็นพักๆ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจลำบากตามมา

ปัจจัยแวดล้อมเกิดขึ้นได้ทั้งจากทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย หากครอบครัวมีประวัติหรือผู้ป่วยมีภาวะโรคพบร่วม อย่างภาวะนอนกรนจนอุดกั้นทางเดินหายใจ โรคอ้วน และอาการภูมิแพ้ รวมถึงสิ่งกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบ เช่น ฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ฝุ่นละอองตามบ้านเรือน ควันบุหรี่ ขนสัตว์/สัตว์ เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ สารเคมี เป็นต้น ล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืดได้

“การรักษาผู้ป่วยโรคหืดไม่ใช่รักษาเฉพาะโรคหืดอย่างเดียว แต่จะรักษาโรคร่วม เช่น แพ้อากาศ ไซนัส ไอเรื้อรัง ภาวะนอนกรน กรดไหลย้อน ภาวะอ้วน ทำให้โรคหอบหืดคุมอาการยาก”

โรคหืดสามารถรักษาหาย ยิ่งรักษาเร็วและต่อเนื่องยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยในเด็กมีโอกาสหายมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงกว่าเด็กและพ่นยาได้ยากกว่า เพราะบางคนชินกับอาการจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหืด

ที่สำคัญการรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นต้องสม่ำเสมอเป็นประจำไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่แสดงก็ตาม และต้องสามารถปรับลด/เพิ่มขนาดของยาตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้อาการกำเริบได้

ดังนั้น หากรู้จักสังเกต ดูแลและรับประทานยาในการรักษาอย่างถูกต้องเป็นประจำสม่ำเสมอก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี หายขาดจากโรคได้

 

You Might Also Like