11 มีนาคม 2565…นับเป็นก้าวสำคัญในความพยายามผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนใน รพ. ต่างๆ ให้เป็นระบบเดียวกัน โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทย และกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ภายใต้โครงการ “Smart OPD” ดาวน์โหลดแค่แอปฯเดียว ก็สามารถใช้บริการได้กับ 11 โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ช่วยลดขั้นตอนการรับบริการบางอย่างให้ผู้ใช้บริการสามารถจัดการได้ด้วยตนเองลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ
พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ภายใต้โครงการ Smart OPD เป็นการผสานจุดเด่นของกทม. ที่มีเครือข่ายหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่กว้างขวาง กับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยีและมีประสบการณ์ตรงในการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่หลายแห่ง มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้สามารถรับบริการของโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเชื่อมโยงชีวิตประชาชนให้เข้าถึงบริการการรักษาทางการแพทย์ทั้งแบบฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินได้ง่ายยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถแจ้งเหตุกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถแสดงพิกัดจุดเกิดเหตุได้โดยรวดเร็ว และมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ที่ก้าวสู่โลกยุคดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ”
คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เผยถึงที่มาการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาในภาคสาธารณสุข “ความตั้งใจของ KBank คือ การส่งเสริมให้เกิด Healthcare Ecosystem ไม่ใช่เพียงแค่การรักษาโรค แต่รวมถึงการป้องกัน และดูแลสุขภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการและเกิดการใช้งานจริง และเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสุขภาพของหน่วยบริการทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มความสามารถในการนำความช่วยเหลือไปสู่พื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น ลดภาระให้แก่ระบบสาธารณะสุขที่กำลังจะต้องแบกรับภาระสังคมผู้สูงวัยอีกด้วย
ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่แล้ว 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (Chula Care) โรงพยาบาลชลบุรี (CBH PLUS) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (TUH for all) โรงพยาบาลราชวิถี (RJ Connect) และสถาบันประสาทวิทยา (NIT PLUS)”
คุณขัตติยา กล่าวต่อว่า “แอป “หมอ กทม.” มุ่งพัฒนาใน 3 แกนหลัก คือ 1) การเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางของโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) มาแสดงที่แอปพลิเคชัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพและการรักษาได้ด้วยตนเอง รวมถึงแชร์ข้อมูลให้บุคลากรทางการแพทย์ ช่วยให้การให้บริการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) การสร้างประสบการณ์ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทั้งในและนอกสถานที่ของโรงพยาบาล 3) การเชื่อมโยงระบบชำระเงินและบริการทางการเงินต่างๆ ที่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลผ่านช่องทาง K PLUS โอนเงินผ่าน Thai QR Code บัตรเครดิต หรือ บัตรเดบิต โดยสามารถเลี่ยงการสัมผัสเงินสด
แอปฯ หมอกทม. ได้รวบรวมบริการสำคัญสำหรับการรับบริการด้านการแพทย์ในยุค New Normal ไว้ครบถ้วน เช่น
-นัดหมายพบแพทย์ ตรวจสอบรายการนัดหมาย แจ้งเตือนการนัดหมาย และกดรับบัตรคิวในแอปฯ
-ตรวจสอบสิทธิการักษาพยาบาล อาทิ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ
-ตรวจสอบสถานะคิวตรวจ แจ้งลำดับคิว และขั้นตอนการใช้บริการในโรงพยาบาล
-ลงทะเบียนตรวจรักษา บริการลงทะเบียนตรวจรักษาโรค จองวันเข้ารับการตรวจรักษาได้ง่าย ผ่านแอปฯ
-ประวัติการรักษา ตรวจสอบผลวินัจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
-แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ด้วยฟีเจอร์แจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมแชร์โลเคชันเพื่อขอรับการช่วยเหลือจากศูนย์เอราวัณ
-ตรวจรักษาออนไลน์ บริการตรวจรักษาด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) ตรวจรักษา ติดตามอาการ ตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวีดีโอคอล (VDO Call) โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน
ส่วนระบบการชำระเงินบนแอปฯ จะเริ่มใช้ได้ที่โรงพยาบาลกลางภายในเดือนมิถุนายน 2565 และอีก 10 โรงพยาบาลจะใช้ระบบชำระเงินผ่านแอปฯ ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลการเงินเข้าสู่ระบบการจัดการของโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำระบบบริจาคเงินผ่าน QR e-Donation เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประสงค์ที่จะบริจาคเงินสมทบแก่โรงพยาบาลผ่านโทรศัพท์มือถืออีกด้วย
ทั้งนี้ แอปฯ หมอ กทม. สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ทั้งระบบ iOS และ Android โดยพร้อมนำร่องใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลกลาง และจะทยอยเปิดใช้กับโรงพยาบาลอีก 10 แห่งในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายในปลายเดือนมีนาคม 2565 ได้แก่1. โรงพยาบาลตากสิน 2. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 3. โรงพยาบาลสิรินธร 4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ 5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 8. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 9. โรงพยาบาลคลองสามวา 10. โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร
สิ่งที่มากกว่าเทคโนโลยีที่พูดถึงทั้งหมดนี้ คือ เป้าหมายในการทำให้คนไทยได้ใช้บริการทางแพทย์ที่มีคุณภาพ ลดภาระและกระบวนการของระบบสาธารณสุข เป็นการพัฒนาแบบบูรณาการทั้งการดูแล ป้องกัน และรักษา ซึ่งเป็นพื้นฐานการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน