ALTERNATIVE

ทำไมฝนตกแป๊บเดียวก็ท่วมแล้ว ทำไมเม็ดฝนเดี๋ยวนี้มันใหญ่จัง ?

13 กันยายน 2565…ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เขียนผ่านเฟสบุคเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องโลกร้อนล่าสุด เราจะเจอฝนโลกร้อน น้ำเทโครมจากฟ้า เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ 8-12% ต่อทุกองศา และเชื่อว่าโลกร้อนกำลังอยู่ในอัตราเร่ง แม้อาจไม่สามารถวัดกันปีต่อปี แต่เมื่อดูความเสี่ยง จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นแน่ ๆ ถี่ขึ้น และถี่ขึ้น

ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวถึง วัฏจักรของน้ำคือระเหยจากทะเล ไอน้ำอยู่ในอากาศ เมฆลอยเข้าแผ่นดิน กลายเป็นฝนตกลงมา วัฏจักรนี้ไม่เปลี่ยน แต่ที่เปลี่ยนคือรายละเอียดที่เกิดจากโลกร้อน

เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำระเหยได้มากขึ้น ไอน้ำขึ้นไปในอากาศมากขึ้น อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากกว่า หากอุณหภูมิในอากาศเพิ่มขึ้น 1 องศา อากาศจะจุความชื้นได้เพิ่ม 7% อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.1-1.2 องศา แต่นั่นคือค่าเฉลี่ย อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นมากกว่าในบางพื้นที่

เมฆยุคนี้ในบางพื้นที่จึงมีน้ำจุอยู่เยอะมาก ตกลงมาเป็นฝนที่หนักมากในช่วงเวลาสั้นๆ เม็ดฝนใหญ่ๆ ที่เห็นในภาพ ตามภาพข้างต้นที่ผศ.ดร.ธรณ์ ถ่ายมาบ่ายนี้เอง

ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อก่อนไม่เคยมีฝนแบบนี้ แต่หมายความว่าฝนแบบนี้จะมีบ่อยขึ้น ข้อมูลจากกรุงเทพฯ ระบุว่าปีที่แล้วมีฝนตกหนักเกิน 100 มม. แค่ 4 วัน ปีนี้ยังไม่จบไตรมาส 3 ก็เกินไปแล้ว 10 วัน

คราวนี้มาดูสิว่า เราจะเจอฝนแบบนี้มากขึ้นอีกไหม ? ผศ.ดร.ธรณ์นำภาพโมเดลมาให้นั่นคือเปอร์เซ็นต์ฝนตกหนักที่มีเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศา แต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางแห่งฝนตกน้อยลงด้วยซ้ำ กลายเป็นแห้งแล้งกว่าเดิม

ลองดูจุดสีแดง ประเทศไทย จะเห็นว่าเราอยู่ในเขตที่ฝนจะตกหนักเพิ่ม 8-12% โลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น เราจะเจอฝนโลกร้อน น้ำเทโครมจากฟ้า เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ 8-12% ต่อทุกองศา และเชื่อว่าโลกร้อนกำลังอยู่ในอัตรเร่ง แม้อาจไม่สามารถวัดกันปีต่อปี แต่เมื่อดูความเสี่ยง จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นแน่ๆ ถี่ขึ้นและถี่ขึ้น ความเดือดร้อนจากฝนตกหนักคงไม่ต้องอธิบาย เราเห็นกันอยู่แล้ว แทบทุกวัน หลายสถานที่

เมื่อเราทราบว่ามันไม่ลด มีแต่เพิ่ม เราก็ต้องพยายามหาทางเท่าที่ได้ เราต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) แต่มันไม่เห็นผลเร็วขนาดนั้น ว่าง่ายๆ คือหากโลกหยุดปล่อย GHG ทั้งหมดในวันนี้ ที่ปล่อยไปแล้วอยู่บนฟ้าก็ยังทำให้โลกร้อนขึ้นลากยาวไปอีก 25 ปี (GHG – Greenhouse Gas)

“เราจึงต้องปรับตัวให้พออยู่ได้ แน่นอนว่าการปรับตัวต้องทั้งช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐทำ ท้องถิ่นทำ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเองเท่าที่ทำได้ ของบางอย่างไม่เคยทำก็อาจต้องทำ บางอย่างไม่เคยลงทุน ไม่เคยคิด ไม่เคยระวัง ก็คงจำเป็นต้องคิดถึงให้มากขึ้น มันเป็นยุคสมัยของการเอาตัวรอด ด้วยการหาข้อมูลให้เยอะ คิดให้รอบคอบ ที่จะช่วยเราได้ตั้งแต่การวางแผนกลับบ้านในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน หาโรงเรียนลูก ฯลฯ” ผศ.ดร.ธรณ์ เขียนไว้ในท้ายที่สุดผ่านเฟสบุค

ที่มา

https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat

 

You Might Also Like