17 เมษายน 2566…เซ็นทรัล ทำ ตอกย้ำจุดยืนการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ ตาม 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน
พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล พี่ใหญ่‘เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)’ กล่าวถึงเป้าหมายปี 2566 สร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้ได้ 1,800 ล้านบาท ต่อปี เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 6500 ไร่ เพื่อเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050
แนวทางที่ 1.
ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย
(Community & Social Contribution)
การพัฒนาชุมชน (Community Development) ประกอบไปด้วยโครงการส่งเสริมการสร้างอาชีพ ให้กับคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร โดยดำเนินโครงการต่างๆ สนับสนุนตามความต้องการของแต่ละชุมชน บนแนวทางที่ประกอบด้วย 1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน 2) การออกแบบหีบห่อบรรจุภัณฑ์ 3) ลงทุนและพัฒนาอาคาร 4) การรับซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาจำหน่ายในศูนย์การค้าที่ต่าง ๆ 5) การสนับสนุนการขนส่ง 6) การสนับสนุนการทำการตลาดช่องทางการขาย 7) แนะนำความรู้ทางธุรกิจ 8) สนับสนุนช่องทางการสื่อสาร โดยได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 35 จังหวัด สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กว่า 100,000 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยการรับซื้อ ไปแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท
โครงการที่จัดทำ อาทิ จริงใจฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ที่ตั้งอยู่ตาม Tops Market ทั้ง 32 สาขา, โครงการ จริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่, โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง, โครงการศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย, โครงการชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่, โครงการกาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จ.เชียงราย, โครงการชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร, โครงการโคกหนองนาโมเดลเกษตรอินทรีย์วิถีใหม่ จังหวัดสุรินทร์, โครงการเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน จ.น่าน, โครงการศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ, โครงการวิสาหกิจชุมชน ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา, โครงการคุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, โครงการ วิถีชุมชนริมน้ำบางปะกง ตลาดโบราณท่าไข่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ศิลปวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของประเทศ เซ็นทรัล ทำ มีเป้าหมาย ในการรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ผ่านการสืบสานประเพณีอันดีงาม สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชน สืบสานวัฒนธรรม พัฒนาสินค้าท้องถิ่น สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวยั่งยืน
ตั้งเป้ายกระดับชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 บาท ในปี 2566
สุขภาพแข็งแรงและความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) คือหนึ่งในเป้าหมายของ เซ็นทรัล ทำ ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ อาทิ จัดงานกีฬา สนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ช่วยเหลือชุมชนเมื่อคราวเกิดภัยพิบัติต่าง ๆร่วมบริจาคโลหิต มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนงบประมาณสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่ดี ร่วมมือกับองค์กรยูนิเซฟจัดทำสินค้าออกจำหน่ายเพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ ทั่วโลก เป็นต้น
แนวทางที่ 2.
ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส อย่างเท่าเทียม
(Inclusion)
การศึกษา (Education) คือหนึ่งปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยสร้างคน พัฒนาชาติและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เซ็นทรัล ทำ จึงเข้าไปพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาด้านต่างๆ สานฝันการศึกษาให้เยาวชนที่ขาดโอกาส ให้เป็นคนเก่งและคนดีควบคู่กัน พร้อมพัฒนาศักยภาพ ความสามารถของเยาวชนไทยให้เท่าเทียมสากล ด้วยการฝึกฝนประสบการณ์ ร่วมพัฒนาหลักสูตรการศึกษา เซ็นทรัล ทำ มุ่งมั่นยกระดับองค์ความรู้ให้สถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำหลักการมาปรับปรุงเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนวทางทั้ง 8 ด้านได้แก่ 1) หลักสูตรทางวิทยาศาสตร์ 2) หลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีน 3) หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง 4)คุณธรรมจริยธรรม 5) การจัดอบรมโค้ชครู 6) ให้ความรู้อบรมเรื่องสิ่งแวดล้อม 7) ปรับปรุงสถานศึกษา 8) มอบทุนการศึกษา
เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลา เพื่อเพิ่มความสามารถพิเศษให้กับนักเรียนในจังหวัดภูเก็ต โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้เด็กนักเรียนในจังหวัด ภูเก็ตพูดภาษาอังกฤษได้และสื่อสารกับชาวต่างชาติที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต โดยให้ครู มีทักษะ และเครื่องมือในการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสารในชีวิตประจำวันมากกว่า Grammar ในโครงการนี้จะมีการคัดเลือก Star เป็นต้นแบบให้กับนักเรียนคนอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนมีแรนงบรรดารใจให้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนั้นจะมีการจัดทำร้านค้าภายในเซ็นทรัล ภูเก็ตเพื่อขายสินค้าท้องถิ่นและนักเรียนจะได้ประสบการณ์ในการคุยกับชาวต่างชาติสูงขึ้น
ในปี 2565 เซ็นทรัล ทำ ได้ส่งเสริม กระบวนการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เกิดการสร้างทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชนเข้มแข็ง ช่วยสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีสมรรถนะในการทำงาน และมีทักษะชีวิตที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้จัดทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แล้ว 47 แห่ง ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเปิดโอกาสในการจ้างงาน ขยายแนวทางการจัดทำโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 5 สถานศึกษา มีผู้เรียนรวมจำนวน 10,527 คน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด
ทำการอบรมโค้ชครู เพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนแบบท่องจำ ให้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยฝึกอบรมและพัฒนาครูผู้สอนให้มีทักษะการโค้ช ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าคิด กล้าถาม กล้าทำ กระตุ้นให้นักเรียนได้ใช้ศักยภาพสูงสุด ครูผู้เข้าอบรมจำนวน 89 คน จาก 11 โรงเรียน ครอบคลุม 8 จังหวัด มีความเข้าใจหลักการโค้ช และเทคนิคการตั้งคำถาม มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการรับฟังเด็กมากยิ่งขึ้น เด็กนักเรียนมีความสุขขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนดีขึ้น นักเรียนกล้าถามครูมากขึ้น เข้าใจบทเรียนดีขึ้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนสูงขึ้น
อบรมคุณธรรม จริยธรรม สร้าง โรงเรียนคุณธรรม เน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่พัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบ โดยใช้โครงงานคุณธรรม (Moral Project) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ความดีความงามจากการลงมือปฏิบัติจริงของ นักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรม โครงงานนั้นๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือปลูกฝังคุณธรรมพื้นฐาน 5 ประการ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ และ 5) อุดมการณ์คุณธรรม ช่วยให้เกิดการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้น้อยลง และส่งเสริมการสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น
โอกาสในการทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรได้รับโอกาสทัดเทียมกันเพื่อสร้างความสุข และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เซ็นทรัล ทำ จึงเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการใช้ชีวิต และส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับคนพิการ (People with Disabilities) โดยการแบ่งปันความรู้ สอนทักษะและสร้างอาชีพ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพ และสร้างรายได้ให้กับคนพิการอย่างยั่งยืน เซ็นทรัล ทำ เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของคนพิการ เราจึงส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการนอกจากร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่ และเปิดโอกาสโดยการรับเป็นพนักงานประจำกว่า 80 คน ที่ ศูนย์ Contact Center ยังมีการส่งเสริมการสร้างงานให้กับสมาคมคนพิการ จังหวัดอุดรธานี ผ่านโครงการสานตะกร้า และนำมาจำหน่ายในร้าน good goods ซึ่งจากปี 2565 สามารถสร้างรายได้กลับไปให้กับสมาคมได้ทั้งหมด 2,256,420 บาท
โครงการตะกร้าสานคนพิการ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการ สมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี เป็นโครงการที่ให้โอกาสคนพิการ ได้มีอาชีพ ได้ใช้ศักยภาพของตนเอง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง โดย เซ็นทรัล ทำ เริ่มต้นการส่งเสริมอาชีพโดยการสานตะกร้าพลาสติกให้แก่คนพิการกลุ่มนี้ ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 สร้างอาชีพแก่คนพิการและเครือข่ายกว่า 45 คน ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เฉลี่ยของคนพิการในโครงการสนับสนุนอาชีพ สานตะกร้าพลาสติกอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน คนพิการเหล่านี้ นอกจากรายได้ที่มั่นคงแล้ว สิ่งสำคัญคือ การได้รับการยอมรับจากคนในสังคม การได้มีส่วนช่วยเหลือ แบ่งปันแก่ผู้อื่น ปัจจุบัน ได้มีการต่อยอด อบรมการสานตะกร้าแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และ ผู้สูงอายุ ใน จ.อุดรธานี ให้ได้มีรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
ภาพรวมในปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล ได้สนับสนุนอาชีพให้คนพิการมีงานทำจำนวน 631 คน และตั้งเป้าในปี 2566 ที่จำนวน 659 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด เพราะกลุ่มเซ็นทรัลต้องการสร้างโอกาสในการมีงานทำมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
แนวทางที่ 3.
พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
(Human Capital Development)
การดูแล พัฒนาบุคลากรขององค์กร เป็นกรอบและกระบวนการในการพัฒนาตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถไปจนถึงมีทักษะในการปฎิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่กันไปด้วย คือต้อง Work Life Balance โดยการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในองค์กรนั้น อาจทำได้ตั้งแต่การฝึกอบรม, การศึกษาผ่านการเรียนการสอนที่จริงจัง, การออกไปดูงานนอกองค์กร, ไปจนถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งเมื่อพนักงานได้รับการพัฒนาแล้วก็สามารถเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ส่งผลให้องค์กรพัฒนาและประสบความสำเร็จตามไปด้วยได้ เรามีการให้ความรู้ และฝึกอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่อง และ พนักงานเอง ก็ให้ความร่วมมือ ตามเป้าหมายทุกคน
เป้าหมาย จัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพพนักงานครบทุกคน 100%
แนวทางที่ 4.
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
(Circular Economy & Waste Management)
การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพ เราจึงส่งเสริมให้ทุกคนร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัล ในการพัฒนาและออกแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพ
โครงการ Journey to Zero – โครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
สินค้า Upcycling – เซ็นทรัล ทำ ได้สนับสนุนและผลิตสินค้าโดยใช้ขวดพลาสติกหรือวัตถุอื่นๆ เช่น แสลน เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดขยะสู่ฝังกลบ ปัจจุบันนี้ได้มีการรับบริจาคขวดพลาสติกตามศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งสามารถผลิตกระเป๋า, เสื้อกั๊ก และผ้าห่มซึ่งสามารถลดปริมาณขวดน้ำพลาสติกลงหลุมฝังกลบได้กว่า 300,000 ขวด
แนวทางที่ 5.
ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร
(Food Loss & Food Waste Reduction)
อีกส่วนสำคัญในการไปสู่ Zero Waste คือการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการใช้วัตถุดิบ การจัดการอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย โดยสามารถนำมาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ อาหารที่ยังรับประทานได้ และ ส่วนที่สองคือ ส่วนอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้
จัดการส่งต่อให้แก่กลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงเด็ก เยาวชน และผู้ขาดแคลนโอกาส โดยในปี 2565 ได้บริจาคไปมากกว่า 1,108,960.31 มื้อ หรือเทียบเท่ากับการลดการสร้างขยะลงสู่หลุมฝังกลบ 264 ตัน และ ส่วนที่สองคือ ส่วนอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้ – จะถูกนำไปผ่านกระบวนการในการแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาสร้างประโยชน์หมุนเวียนต่อไป อาทิ โครงการ Samui Model และโครงการ Surat Model ที่ได้ลดการสร้างขยะอินทรีย์สู่หลุมฝังกลบในพื้นที่ ผ่านการใช้เทคโนโลยี การแปรรูปอาหารเหลือเป็นปุ๋ยเกษตร ซึ่งสามารถจัดการขยะอาหารอย่างถูกวิธีได้ทั้งหมดมากกว่า 62 ตัน และแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์ให้กับชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดเกษตรอินทรีย์
เดินหน้า ติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ (Cowtec) ที่ โครงการจริงใจ มาร์เก็ต เชียงใหม่ ทำการอบรมการใช้งานเครื่อง Cowtec และการคัดแยกขยะให้กับทีมงานจริงใจและร้านค้า นำปุ๋ยหมักที่ได้จากเครื่อง Cowtec แจกจ่ายให้กับเกษตรกร/ร้านค้าของจริงใจ มาร์เก็ต เชียงใหม่ และใช้ LPG เพื่อทำอาหารภายในตลาด นำร่องโครงการ โดยการติดตั้งจุดแยกขยะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้กับลูกค้าและประชาชน ดำเนินงาน 5 วัน ได้ปริมาณขยะอาหารกว่า 1,031 kg โดยแยกเป็นขยะอินทรีย์ 38% ขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ 20% และ ที่รีไซเคิลไม่ได้ 42% ทั้งนี้ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการการแยกขยะมูลฝอยให้ถูกต้องต่อไป
แนวทางที่ 6.
ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน
(Climate Action)
อีกหนึ่งเป้าหมายของ โครงการ Journey to Zero คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดย เซ็นทรัล ทำ ส่งเสริมให้ธุรกิจในกลุ่ม มีการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ กว่า 101 แห่งและติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า กว่า 80 สถานี รวมไปถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่โดยรอบ และส่งเสริมการปลูกป่า (Forest Restoration) กิจกรรมปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูผืนป่า ที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 5,500 ไร่ และตั้งเป้าที่จะปลูกป่าและฟื้นฟูป่า เพิ่มเติมอีก 1,000 ไร่ภายในปี 2566 จากการปลูกทางการเกษตรของชุมชน เซ็นทรัล ทำ, ชุมชนที่ส่งผลผลิตจำหน่ายที่ Tops และ จริงใจ Farmers’ Market และดำเนินโครงการปลูกป่าต่างๆ นอกจากนี้ เซ็นทรัล ทำ ยังได้ร่วมมือปรับภูมิทัศน์โดยรอบศูนย์การค้า ผ่านการจัดทำสวนสาธารณะ การบูรณาการพื้นที่ริมคลอง การจัดทำติดตั้งเครื่องดักไขมัน และการปรับสภาพน้ำในคลองข้างศูนย์การค้า
-อีกทั้งยังร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ในการปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปอดให้กับคนกรุงเทพ
พิชัยกล่าวในท้ายที่สุด ความตั้งใจและการลงมือทำทั้งหมดนี้เพื่อผลักดันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในกลุ่มธุรกิจ ซึ่งรวมไปถึงผู้บริหารระดับสูง คู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตร ให้คำนึงถึงการบริหารและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมไปถึงการสร้างความตระหนักและการเปลี่ยนแปลงกับผู้บริโภคอีกด้วย