17-18 มิถุนายน 2566…ประเดิมที่หญ้าเนเปีย คาดว่าจะเกิดกระบวนการสร้างงานใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่มีจำนวนมากกว่า 350 ราย และนำไปสู่การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีมูลค่าเงินสนับสนุนกองทุนกว่า 500,000 บาท / 100 ไร่ / ปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานพืชพลังงาน
เจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด และ ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสระบุรี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวถึงความร่วมมือ SARABURI Sandbox ที่กำลังเดินหน้าอยู่ขณะนี้
การดำเนินงานจะครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 7 ตำบล ในอำเภอแก่งคอย ประกอบด้วย ตำบลบ้านป่า ตำบลท่าคล้อ ตำบลทับกวาง ตำบลบ้านธาตุ ตำบลท่าตูม ตำบลมวกเหล็ก และตำบลท่ามะปราง
“เป้าหมายคือการวิจัยส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ชุมชนโดยรอบโรงงานเป็นพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศพืชพลังงาน ส่งเสริมและสร้างกลุ่มผู้ผลิตพืชพลังงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรีภายใต้ความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในการสร้างงานในพื้นที่ผ่านการพัฒนาอาชีพและขยายผลสู่ระบบการผลิต และระบบการแปรรูปพืชพลังงานในพื้นที่ศูนย์กลางโรงงานในเครือปูนเอสซีจีทั่วประเทศ โดยโครงการนี้จะสร้างกลไกความร่วมมือ การสนับสนุน และการกำกับดูแลร่วมกันของเครือข่ายในพื้นที่ในการสร้างกองทุนกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยต้นแบบ จากวัสดุคาร์บอนต่ำ”
ดร.กิตติ กล่าวต่อเนื่อง การดำเนินการของโครงการดังกล่างข้างต้นถือได้ว่าเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) พืชพลังงานในการขับเคลื่อน Business Model ทั่วประเทศ เป็นความร่วมมือกันทั้ง ภาคประชาชน ภาคธุรกิจและเอกชน จนเกิดกระบวนการสร้างงานใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่นำไปสู่การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม เป็นกระบวนการสร้างฐานความรู้ผ่านกระบวนการวิจัยและการลงทุนที่เป็นรูปธรรม
คาดว่าจะเกิดกระบวนการสร้างงานใหม่สำหรับผู้มีรายได้น้อยมากกว่า 350 ราย และนำไปสู่การจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีมูลค่าเงินสนับสนุนกองทุนกว่า 500,000 บาท / 100 ไร่ / ปี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานพืชพลังงาน
เจริญชัย ขยายความถึงพืชพลังงานใน Sandbox ประเดิมที่หญ้าเนเปีย นอกจากพืชพลังงานอื่น ๆ ที่โรงงานปูนฯแก่งคอยรับซื้ออย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเอสซีจีภายใต้แนวทาง ESG 4 Plus ประกอบไปด้วย
-Net Zero มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการตลอดทั้งโครงการได้ถึง 45,000 ตันต่อปี
-Go Green เพิ่มนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล จากผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
-Lean ลดเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน กระจายรายได้ และพัฒนาทักษะอาชีพด้านการเกษตร
-ย้ำร่วมมือ มุ่งเน้นขับเคลื่อน ESG ร่วมกับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โครงการความร่วมมือดังกล่าวเป็นการขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านความยั่งยืน
โครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบ Low Carbon Economy และ BCG Model ให้กับอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสามารถช่วยในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวจะถือเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันนโยบาย BCG Model ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี สู่การเป็น “SARABURI Sandbox” ตามแนวทางการพัฒนาของจังหวัดสระบุรีต่อไป
ทั้งนี้ มีการขยายโครงการการลงทุนพืชพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่เมืองชายแดนและเชื่อมโยงเศรษฐกิจไปยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจร่วมของพื้นที่เมืองชายแดน โดยนำร่อง 3 พื้นที่ คือ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม สามารถยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของพื้นที่ ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศได้ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาขั้นตอนการผลิต/ปลูก ขั้นตอนการแปรรูป ขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าของพืชพลังงานต่อไป