20 กรกฎาคม 2566…เตรียมต้นทุนน้ำแบบพร้อมรับมือช่วงพีคที่ภาคตะวันออกของภัยแล้งปีนี้ช่วงปลายปี และถ้าหากเอลนิโญ่ยังคงส่งผลกระทบแบบเต็มร้อยแล้ว อีสท์ วอเตอร์ได้ลงทุนวางท่อน้ำดิบเพิ่มเติมอีก 2 โครงการหลักพร้อมรับมือหน้าแล้งปี 2567
เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ กล่าวถึงความพร้อมของบริษัทในการรับมือภัยแล้งระหว่างการ Site Visit โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบคลองหลวง จังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อแทนการผันน้ำผ่านคลองพานทองซึ่งมีน้ำสูญเสียจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
“ในส่วนนี้ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 90% คงเหลือเฉพาะงานวางท่อส่งน้ำ และติดตั้งระบบสูบน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร โดยเบื้องต้นอีสท์ วอเตอร์ได้ดำเนินการขออนุญาตจากกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลใช้งานหลัก ซึ่งกรมชลประทานไม่ขัดข้องให้อีสท์ วอเตอร์ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และให้ดำเนินการขออนุญาตกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ ได้ดำเนินการขออนุญาตต่อกรมธนารักษ์ไปตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตจากกรมธนารักษ์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ จะได้เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชลบุรีในปี 2567 เช่นกัน”
ส่วนอีกโครงการอีสท์ วอเตอร์ได้ลงทุนวางท่อน้ำดิบเพิ่มเติมอีก 1 โครงการคือโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ความยาวกว่า 60 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำสายหลักเส้นประแสร์-หนองปลาไหลเดิมของอีสท์ วอเตอร์ เพิ่มศักยภาพในการสูบส่งน้ำสู่พื้นที่ชลบุรีเพิ่มขึ้นอีก 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยได้รับอนุญาตการวางท่อในเขตทางหลวงพื้นที่ระยองแล้ว คงเหลือการอนุญาตการวางท่อในเขตทางหลวงพื้นที่ชลบุรี ทั้งนี้ตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 เพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชลบุรีในปี 2567 ซึ่งการก่อสร้างท่อส่งน้ำนี้จะเป็นการสร้างศักยภาพที่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังพื้นที่ชลบุรีได้โดยตรง
“ภารกิจในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่อีสท์ วอเตอร์มุ่งมั่น และตั้งปณิธานที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งการวางท่อส่งน้ำสายหลักเพิ่มเติมที่ได้กล่าวมาจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่จะดำเนินการร่วมกัน จึงขอความเห็นใจจากทุกภาคส่วนให้โครงการบรรลุถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้ร่วมกัน นอกจากนี้อีสท์ วอเตอร์ยังมีแผนการแก้ปัญหาภัยแล้งอีกหลายโครงการที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการสูบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง, โครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเอกชน, โครงการบริหารระบบสูบน้ำกลับวัดละหารไร่, โครงการบริหารระบบสูบน้ำกลับคลองสะพาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุน และโครงข่ายท่อส่งน้ำ หรือ Water Grid ของอีสท์ วอเตอร์ มั่นคง และแข็งแกร่งที่สุด ในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC สร้างการเติบโต และแข็งแกร่งให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืนตลอดไป”
เชิดชายกล่าวในท้ายที่สุด และเสริมถึงกระบวนการทำธุรกิจด้วยแนวทาง ESG เส้ทางของน้ำ การใช้พลังงาน รวมกากอุตสาหกรรมที่ติดมากับน้ำ การส่งทำลาย ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่อีกไม่นานอาจจะต้องรายงานใน One Report เพื่อลูกค้ารับทราบรวม Stakeholder ด้วย