10 ตุลาคม 2566…ด้วยสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนทั้งลูกค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม และพนักงาน บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด จึงประกาศภารกิจและวิสัยทัศน์ใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจครั้งสำคัญ จากเดิม “มุ่งสู่การเป็นบริษัทอาหารที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดในประเทศไทย” สู่การเป็น “ผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน”
มร. อิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า ภารกิจใหม่ของ อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย คือ การเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านอาหารและสุขภาพของสังคมผ่านค่านิยมหลักของบริษัท เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน (ASV) ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทฯ ระดับโลก โดยมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ ผ่านการใช้ศาสตร์แห่งกรดอะมิโน ซึ่งสำคัญสำหรับร่างกายของมนุษย์ เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพดีของผู้คนจำนวน 1,000 ล้านคน และการทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% จากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย เผยว่า มีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์กว่า 10 รายการ ภายในปี 2573 เพื่อสนับสนุนคนไทยกว่า 3 ล้านคนในทุกช่วงวัยให้มีสุขภาพดีรับสังคมผู้สูงวัยของไทยในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการขยายผลความสำเร็จในการปลูกฝังแนวคิดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านแคมเปญ Too Good To Waste ถือเป็นการส่งต่อแนวคิดในการจัดการกับการสูญเสียอาหารและขยะอาหารให้กับคนไทยในภาคครัวเรือน
ภายใต้แนวคิดที่ต้องการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้สังคมไทยอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสร้าง Well-being หรือ “การอยู่ดีมีสุข” โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
1.การสร้างการอยู่ดีมีสุขให้ผู้บริโภค consumer Well-being
โภชนาการที่สมดุล เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นด้วยโภชนาการที่ปราศจากการประนีประนอมทั้งรสชาติที่ถูกปาก คุณประโยชน์ต่อร่างกาย ผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการรับรองเครื่องหมาย Healthier Choice Logo เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ลดโซเดียม ทั้ง รสดี สูตรลดโซเดียม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยำยำ เป็นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ลดน้ำตาล อย่างกาแฟกระป๋องเบอร์ดี้, น้ำตาลไลท์ชูการ์, เบลนดี้ สติ๊ก คาเฟ โอเล ฮาฟแคลอรี่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสูตรอาหารเพื่อสุขภาพแต่ยังคงความอร่อย พร้อมทั้งพัฒนาระบบประเมินปริมาณสารอาหารสำหรับเมนูอาหารไทย หรือที่เรียกว่า Nutrient Profiling System for Thai Menus: NPS-M ให้คนไทยได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกเมนูอาหารที่ชอบ อร่อย และเหมาะกับสุขภาพของแต่ละคน ปัจจุบันมีการใช้โปรแกรมนี้แล้วที่ญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยกำลังมีการทำงานร่วมกับสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาโปรแกรมนี้ให้เหมาะกับคนไทย
โภชนาการสำหรับการกีฬา ผ่านโครงการ Thailand Victory Project ด้วยการสร้างสรรค์โปรแกรมโภชนาการอาหารที่เหมาะสมกับนักกีฬา หรือที่เรียกว่า Winning Meal เพื่อเสริมสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงและมีพลังงานเพียงพอ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์อะมิโนไวทัล ให้กับทีมนักกีฬาทีมชาติไทยในศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ผ่านมา
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสุขภาพ โดยนำศาสตร์แห่งกรดอะมิโนมาตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของคนวัยทำงานจนถึงผู้สูงวัย เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด หรือ Hyper-Aged Society ในปี พ.ศ. 2578 ของไทย เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 10 ผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนอาหารและอาหารเสริม ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนกล้ามเนื้อให้ผู้สูงวัย และหลังจากนี้จะมาผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนในเรื่องของสายตา การนอนหลับ รวมถึงภูมิคุ้มกันและให้พลังงานกับร่างกายในอนาคต
2.การสร้างการอยู่ดีมีสุขให้สังคม Social Well-being
มีการวางเป้าหมายในการดำเนินงาน 5 ด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนในปี 2573 คือ การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 50% การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 80% ลดขยะพลาสติกเป็นศูนย์ และรีไซเคิลพลาสติกได้ ลดปริมาณของเสียจากอาหารและอื่น ๆ ลง 50% และ การจัดซื้อจัดจ้าง อย่างยั่งยืน 100% ด้วยการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการผลิตในโรงงานและภาคการเกษตร
ด้านโรงงานมีการดำเนินงานตามแนวทางวัฏจักรชีวภาพในกระบวนการผลิต โดยนำหลัก 3Rs มาใช้ในการจัดการทรัพยากรในโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำตลอดการผลิตให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการบำบัดและใช้หมุนเวียนภายในโรงงาน นำแกลบที่เหลือจากภาคการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อต้มไอน้ำพลังชีวมวลเพื่อผลิตไอน้ำสำหรับกระบวนการผลิต (Biomass Cogeneration) รวมไปถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตา
ภาคการเกษตร มีการดำเนินงานผ่านโครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย” (Thai Farmer Better Life Project) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคู่กับการให้ความรู้ในการปรับปรุงดิน พัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์โรคใบด่างฯ ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับมันสำปะหลัง โดยสนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด ทนทาน และปราศจากโรค ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดข้างเคียง ที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างฯ มาตั้งแต่ปี 2564 รวมถึงปัจจุบันแล้วกว่า 73,025 ต้น
นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวแคมเปญ Too Good To Waste เพื่อส่งต่อแนวคิดในการจัดการกับการสูญเสียอาหารและขยะอาหารให้กับคนไทยในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นการต่อยอดแนวทางการจัดการ Food Loss and Food Waste ที่ใช้ในโรงงาน เพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต ด้วยการนำของเหลือจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-Product) ส่งคืนสู่ภาคการเกษตร เช่น การนำน้ำหมักที่เหลือจากกระบวนการผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะมาผลิตเป็นปุ๋ยน้ำให้กับพืช และใช้ผสมในอาหารสัตว์ (Fertilizer Animal feed) การนำขี้เถ้าแกลบที่เป็นของเหลือจากโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมจากชีวมวล (Biomass Cogeneration) ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงดิน
ผลสำเร็จในการดำเนินงานช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2565) อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย สามารถลดการใช้น้ำต่อหน่วยการผลิตลงถึง 91% รวมทั้งการบำบัดน้ำทิ้งที่ได้มาตรฐานสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 267,000 ตัน หรือเทียบเท่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ใหญ่กว่า 30 ล้านต้น ลดการใช้พลาสติกจากการดำเนินการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ลดขนาดหรือความหนาของบรรจุภัณฑ์พลาสติกลง โดยที่ยังคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ ยกเลิกบรรจุภัณฑ์ชั้นที่ 2 ซึ่งทำให้ช่วยลดการใช้พลาสติกลงได้กว่า 307 ตัน รวมถึงดำเนินการเพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารได้ถึง 49% หรือประมาณ 1,000 ตัน
3.การสร้างความอยู่ดีมีสุขให้พนักงาน Employee Well-being
การสร้างความอยู่ดีมีความสุขจำเป็นต้องต้องเริ่มต้นจากพนักงานในองค์กร เมื่อพนักงานมีความสุขก็สามารถส่งต่อสิ่งดีๆให้ลูกค้าและสังคมได้ จึงมีการให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้อง พร้อมทั้งได้ดำเนินการปรับปรุงสถานที่ต่าง ๆ ในสถานประกอบการ เช่น โรงอาหารที่มีเมนูสุขภาพให้เลือกรับประทาน หรือสถานที่ออกกำลังกายที่ได้มาตรฐาน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งทางด้านอาหารและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
กระบวนการทั้งหมดที่อายิโนะโมะโต๊ะทำเปลี่ยนผ่านจากอดีต ที่เคยตั้งเป้าหมายเพื่อก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำของโลก สู่หมุดหมายใหม่ที่ต้องการทุ่มเทเพื่อกลายเป็นผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับเจตนารมณ์ของกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะทั่วโลกที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับผู้คนและสังคม
“เราคาดว่าโครงการและกิจกรรมภายใต้ความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ทั้งในส่วนการสร้างความอยู่ดีมีสุข ให้สังคมไทย และการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังดำเนินการอยู่และกำลังจะเริ่มดำเนินการในอนาคต จะได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทย เช่นเดียวกับที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น และตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมไทย อันจะนำไปสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนภายในปี 2573 ได้สำเร็จ”