6-7 มกราคม 2567…ปี 2024 การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากพลาสติกให้ความรู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เหมือนการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากน้ำ ยา หรือเสื้อผ้า
เพราะพลาสติกมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่ส่วนลึกของมหาสมุทรไปจนถึงชั้นเลือดและสมองของเรา แม้ต้องใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 1,000 ปี แต่มนุษยชาติยังคงพึ่งพาพลาสติก เพราะจุดเด่นด้านความทนทาน ยืดหยุ่น ต้นทุนต่ำ
STUART LANDESBERG ผู้ก่อตั้งร่วม Grove Collaborative ซึ่งเน้นทำแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคให้ยั่งยืนมากขึ้น กล่าวว่า การรีไซเคิลพลาสติกในวงกว้างดูเหมือนทำได้ยากมาก เนื่องจากข้อจำกัดทางอุตสาหกรรม และไม่ว่าจะทิ้งขยะ หรือขวดสีน้ำเงินไปมากแค่ไหน ส่วนใหญ่ก็มักจบลงที่หลุมฝังกลบ มหาสมุทร
Grove Collaborative เป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่เชี่ยวชาญด้านสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน นําเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเช่น Seventh Generation, Mrs. Meyer’s Clean Day และ Method รวมถึงผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่ทําจากวัสดุรีไซเคิล และใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด
หนึ่งในค่านิยมหลักของ Grove Collaborative คือ Zero Waste พวกเขามุ่งมั่นกําจัดของเสีย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ในการขนส่ง
ปีใหม่นี้เพียงปีเดียว โลกจะผลิตขยะพลาสติกประมาณ 400 ล้านเมตริกตัน โดยไม่มีแผนที่ยั่งยืนว่าจะทำอย่างไรกับขยะพลาสติก ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่กระแสเรียกร้องให้ใช้ชีวิตแบบ “ปราศจาก” พลาสติกเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นสำคัญคือ จะทำได้ไหม?
วันนี้ ชาวอเมริกันใช้พลาสติกประมาณ 286 ปอนด์ต่อปี ทิ้งขยะพลาสติคเกือบ 1 ปอนด์ต่อวัน (นั่นคือขวดน้ำ 16.9 ออนซ์ทุกๆ ชั่วโมง!)
หากคิดตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ การเลิกใช้พลาสติกเป็นศูนย์อาจเป็นไปไม่ได้ แต่การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทำได้ ส่งผลกระทบสูง เราสามารถใช้เฉพาะสิ่งจำเป็น เช่น โครงสร้างพื้นฐาน รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยา ขณะที่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ขวดน้ำ ถุงซักผ้าขนาดใหญ่ และห่อพาเลท คิดเป็น 91% ของขยะพลาสติก
STUART LANDESBERG ใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ ดูว่าการใช้ชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
เริ่มจากกิจกรรมส่วนตัวตอนเช้า แปรงฟัน อาบน้ำ กินยา แต่งตัว ต้องยอมรับว่ามีพลาสติกอยู่ในแปรงสีฟัน ขวดยา หลอดยาสีฟัน แชมพูสระผม และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย รวมถึงพลาสติกในเสื้อผ้า โดยเฉพาะ Fast Fashion ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะห่างจากการใช้ครั้งเดียวทิ้ง
มื้อเช้า ลูก ๆ ของเขายอมไม่ใช้เหยือกน้ำส้ม (พลาสติก) ไม่กินซีเรียล (ห่อด้วยพลาสติก) ไปกินขนมปังปิ้งและไข่ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ทำจากกระดาษ ทาเนยถั่วซึ่งใส่ในขวดแก้ว ขณะกำลังเตรียมอาหารกลางวันให้ลูกๆ ป๊อปคอร์นใส่มาในบรรจุภัณฑ์พลาสติก พาลูกไปโรงเรียน เสื้อผ้าเด็ก เป้สะพายหลัง และเบาะนั่งในรถยนต์ มีส่วนประกอบของพลาสติก ไปทำงาน ออฟฟิศเหมือนทะเลแห่งพลาสติก ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ สายไฟ
แหล่งพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งใหญ่ที่สุดคือ ห้องครัว ขนมและกาแฟอยู่ในถังขยะรวม อย่างไรก็ตาม จาน ชาม และแก้ว ส่วนใหญ่รีไซเคิลได้ ใช้กระดาษรีไซเคิลจาก RePurpose หรือแบรนด์ที่คล้ายกันซึ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน
มื้อกลางวันที่ออฟฟิศ เลือกรถขายอาหารที่ใช้กระดาษห่อแซนวิช แต่ก็ยังเห็นว่าร้านใช้ขวดพลาสติกใบใหญ่ใส่น้ำมันสำหรับทอดอยู่
กลับบ้าน ล้างมือด้วยเครื่องฉีดสบู่เหลวแบบแก้ว สปาเก็ตตี้จากกล่องกระดาษพร้อมเพสโต้ (แก้วและโลหะ) ทำความสะอาดห้องครัวอีกครั้งด้วยสเปรย์ใส่ขวดแก้วแบบใช้ซ้ำได้ น้ำยาล้างจานเติมจากขวดอลูมิเนียม
มีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบัน การรีไซเคิลอะลูมิเนียมทำได้ดีเป็นพิเศษ 75% ของอะลูมิเนียมทั้งหมดที่ผลิตตั้งแต่ปี 1880 ยังคงใช้งานอยู่ ขณะที่พลาสติกมีเพียง 5% เท่านั้นที่เคยถูกรีไซเคิล ส่วนที่เหลือถูกทิ้งไปที่มหาสมุทร และหลุมฝังกลบ
จากนั้นพาลูกๆ อาบน้ำ ใช้อ่างปลอดพลาสติก แต่แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ล้วนทำจากพลาสติก ดื่มไวน์ใส่มาในขวดแก้ว
STUART สรุปว่า การขยายแนวคิดเรื่องลดการใช้พลาสติคให้ครอบคลุมผู้คนหลายล้านคน สร้างผลกระทบแบบที่ต้องการ ต้องทำให้ง่าย ต้นทุนต่ำ สร้างความพึงพอใจ
“เป้าหมายของเราที่ Grove คือ การทำเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องง่ายรอบๆ บ้าน บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนกำลังสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อลดขยะพลาสติกให้ง่ายกว่าที่เคย ผมตั้งใจลงแรงเรื่องนี้ให้มากขึ้น รวมถึงการลด Carbon Footprint ของตัวเองด้วย การเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นแต่ละครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การทำเป็นประจำทุกวันก็ช่วยให้ภาพรวมดีขึ้น ถ้าทุกคนมุ่งมั่นสร้างความคืบหน้าเรื่องลดการใช้พลาสติกแบบ Single Useทุกวัน เราก็สามารถเป็นกำลังสำคัญของการแก้ปัญหา”
ที่มา