25 มิถุนายน 2563…ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบาย ณ ปัจจุบัน ขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต โดยอาจส่งผลให้จีดีพีของประเทศไทยในปี 2568 ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
รายงานการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด 19 ต่อประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการว่างงานในกลุ่มผู้หญิงจะสูงถึงร้อยละ 4.5 ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 สำหรับทั้งปี 2563 ซึ่งในระหว่างปี การว่างงานจะเพิ่มสูงกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการระบาดของไวรัส นอกเหนือจากที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค และบริการทางการเงิน ได้รับผลกระทบน้อยกว่า และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ได้ในระดับหนึ่ง
กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 อาจกระทบต่อความพยายามของประเทศไทย ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งผลลบต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเกือบครึ่งของตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบเท่าๆกัน แต่ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะบรรเทาลงได้ด้วยการมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่ส่งผลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สหประชาชาติยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ความปกติใหม่”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการสำรวจและวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้น ดังนั้น สศช. จึงสนับสนุนการทำงานของสหประชาชาติในฐานะหุ้นส่วนในการประเมินผลในครั้งนี้ ผลของการศึกษาจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกมาตรการและขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเผยแพร่ผลการศึกษาเพิ่มเติมในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะมีการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมของวิกฤตโควิด 19 ที่มีต่อความยากจน อาหารและภาวะโภชนาการ สุขภาพ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และการป้องกันความรุนแรงและการละเมิด