12 สิงหาคม 2563…เป็นครั้งแรกที่เกิดรางวัลนี้ หวังให้บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลงานใช้จริงเกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อม
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวถึง “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” โดย มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดประกาศรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ประจำปี 2563 รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเชิดชูบุคลากรคนไทยที่มีความเป็นเลิศด้านการคิดค้น พัฒนา ประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการสร้างผลงาน สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม และวางรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะต่อผู้ด้อยโอกาส
“ความโดดเด่นของรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ จะเป็นผลงานในเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลงานดังกล่าวได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านในลักษณะวงกว้างในประเทศไทย ประมาณ 5-10 ปี โดยผลงานดังกล่าวอาาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเทคโนโลยีทั้งหมด หากแต่มีอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ส่วน และอีก 2 ใน 3 ส่วนจะเป็นเรื่องกระบวนการทำงานของคนที่ดูแล รวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบที่ดีจากผลงานดังกล่าว”
ดร.ทวีศักดิ์ ขยายความต่อเนื่องถึงข้อแตกต่างของรางวัล โดยกติกาข้อแรก ผลงานดังกล่าวที่จะส่งเข้ามาเจ้าของผลงานห้ามส่งเอง แต่จะต้องเป็นมูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันการศึกษา รวมถึงบริษัทที่อยู่ใน SET 50 เป็นผู้เสนอชื่อผลงาน ซึ่งจะต้องเป็นผลงานที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อคนไทยในวงกว้างมาแล้ว
หลังจากนั้นในกระบวนการตัดสิน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการมูลนิธิฯ จะพิจารณาคัดเลือก ผู้ที่สมควรได้รับรางวัลเพียงปีละ 1 คน จากรายชื่อที่องค์กร หน่วยงาน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เสนอเข้ามา รางวัลพระราชทาน ประกอบด้วย เงินรางวัล 2,000,000 บาท เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน และโล่ประกาศเกียรติคุณ
“มูลนิธิฯ ต้องการให้รางวัลนี้ เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ ที่ทรงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดให้มีรางวัลนี้ขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ที่ได้รับรางวัล ให้มีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือก เป็นรางวัลของคนไทย เพื่อคนไทย โดยจะรับสมัครถึง 31 สิงหาคมนี้ จะมีการประกาศผลรางวัลในช่วงปลายปีพ.ศ.2563 นี้เป็นปีแรก”
มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ มีชื่อเดิมว่า มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2535 จากการรวมตัวกันของภาคเอกชนชั้นนำ 8 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เวิลด์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด บริษัท นันทวัน จำกัด บริษัท สยามกลการ จำกัด กลุ่มบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ และบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ร่วมกันในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศได้
จึงได้จัดให้มีการประกวดรางวัลเจ้าฟ้าไอทีรัตนราชสุดา ทั้งประเภทบุคคลทั่วไปและนิติบุคคล และประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อสนับสนุนงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล สามารถนำมาพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศหรือพัฒนาในเชิงธุรกิจ ซึ่งจัดมาแล้วทั้งหมด 12 ครั้ง ครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.2561
จากนั้นคณะกรรมการมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีมติเปลี่ยนชื่อมูลนิธิและเปลี่ยนรูปแบบการมอบรางวัลใหม่ โดยได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” และได้รับพระราชทานชื่อรางวัลว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ซึ่งจะมีการประกาศรางวัลในปีพ.ศ.2563 เป็นปีแรก
รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บของมูลนิธิ Ratanarajasuda Information Technology Award Foundation