19 กรกฎาคม 2566… วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU จัดงาน CMMU Sustainability Fest 2023 เพื่อมอบรางวัลให้กับองค์กรที่มีแนวปฏิบัติและทุ่มเทในด้านความยั่งยืน ตลอดจนยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ “นักศึกษา” ได้ปฏิบัติตามแบบอย่างความยั่งยืนต่อไป
รศ. ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า เมื่อผู้คนหันมาให้ความสนใจเรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง แนวคิดเรื่องของการทำธุรกิจที่คำนึง ESG ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรในยุคนี้
“CMMU เป็นสถาบันการศึกษา มุ่งมั่นปลูกฝังให้ผู้เรียนเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น การจัดงาน CMMU Sustainability Fest 2023 ครั้งแรก เพื่อมอบรางวัลให้กับองค์กรที่มีแนวปฏิบัติและทุ่มเทในด้านความยั่งยืน ตลอดจนยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษา ได้ปฏิบัติตามแบบอย่างความยั่งยืนต่อไป”
รศ. ดร.วิชิตา ขยายความเพิ่มเติม CMMU-ESG AWARD ประจำปี 2566 เกิดจากการนำแนวคิดและเครื่องมือทางวิชาการที่เรียกว่า ESG Tracker ระบบติดตามที่จะช่วยเปรียบเทียบประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในภูมิภาคเกี่ยวกับ SDGs ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue : ACSDSD) และ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกันพัฒนาขึ้น มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์และพิจารณารางวัลจากข้อมูลขององค์กรใน Sustainability Report หรือปัจจุบันคือ One Report ที่เผยแพร่ในเว็ปไซต์แต่ละองค์กร โดยให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านธรรมาภิบาล หัวใจหลักที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการ เพื่อทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับองค์กรในระยะยาว รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลก ด้านพลังงาน รวมถึงด้านความหลากหลายในการทำงาน โดยได้ทำการคัดเลือกจาก 20 องค์กรที่มีทุนจดทะเบียนสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ ให้เหลือเพียง 7 องค์กรที่จะเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย เพราะ ESG มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม
หลักการทำงานของ ESG Tracker เป็นระบบติดตามเปรียบเทียบประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในด้าน SDGs ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ภายใต้เกณฑ์ ดังนี้
1.ESG Disclosure คือ องค์กรจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในระดับสูง โปร่งใส ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการประเมินการทำงาน มีกระบวนการสืบเสาะประเด็นสำคัญจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีการประเมินความสำคัญและผลกระทบ
2.ESG Data Quality องค์กรจะต้องมีข้อมูลที่มีคุณภาพ ถูกต้อง และตรงประเด็นตามแนวทางการรายงานด้านความยั่งยืน รวมถึงมีความสามารถในการตรวจทานได้ในกรณีต่างๆ มีความเหมาะสมกับ กลยุทธ์ และกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กร ซึ่งเป็นการใช้หลักเกณฑ์เดียวกับที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใช้ในการอนุมัติให้บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด
สำหรับองค์กรที่ได้รับ รางวัล CMMU-ESG AWARD ครั้งแรก มี 7 องค์กร แบ่งแยกตามประเภทของอุตสาหกรรม ดังนี้ กลุ่มเกษตรกรรม – บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริการทางการเงินและการธนาคาร – ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กลุ่มก่อสร้าง – บริษัท สยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มพลังงาน – บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มค้าปลีก – บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม – บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และรางวัล Best Disclosure – บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
นับเป็นการตอกย้ำบทบาท CMMU กับโอกาสผู้สนใจศึกษาต่อปริญญาโท-เอก ความรู้ทางวิชาการและทักษะรอบด้านสอดคล้องกับความต้องการ ความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและสังคม ทั้งในหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะการจัดการเพื่อความยั่งยืน และทำให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์และพัฒนากลยุทธ์ความยั่งยืนที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม