ALTERNATIVE

Cool to Touch โฟมเชิงประกอบชีวภาพ ย่อยสลายได้ !

3 มีนาคม 2563…เป็นผลงานของ ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น และสุวรา วรวงศากุล อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. คว้ารางวัล Gold Prize นวัตกรรมนานาชาติ 2019

Cool to Touch คือชื่อของสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักวิทยาศาสตร์ไทย ที่ได้ประกาศความยิ่งใหญ่บนเวทีการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019) ณ ประเทศเกาหลี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในฐานะ Gold Prize หรือรางวัลเหรียญทอง ท่ามกลางนวัตกรรมระดับโลกกว่า 600 ผลงาน จากนักคิดชั้นนำกว่า 30 ประเทศ

Cool to Touch คือถ้วยและฝาปิดสำหรับใส่เครื่องดื่มร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผลิตขึ้นจาก “โฟมเชิงประกอบชีวภาพ” ที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติวงการบรรจุภัณฑ์โดยสิ้นเชิง ซึ่งผู้ประดิษฐ์ ได้โอนสิทธิอนุสิทธิบัตรให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้นวัตกรรมชิ้นนี้ได้มีส่วนรับใช้สังคมต่อไป

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วโฟมจะผลิตจากพลาสติกหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต

แต่สำหรับโฟมเชิงประกอบชีวภาพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เพราะโฟมชนิดนี้จะตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากแบคทีเรีย รา หรือสาหร่าย และวัตถุดิบในการผลิตโฟมประเภทนี้ก็คือวัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้

นอกจากตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพแล้ว Cool to Touch ยังเสริมความแข็งแกร่งด้วยการนำ “เซลลูโลส” ซึ่งมีแหล่งเส้นใยจากพืชธรรมชาติมาปรับปรุงคุณสมบัติของพอลิเมอร์ จนทำให้ทนความร้อนได้สูง สีสันสม่ำเสมอ น้ำหนักเบา ขึ้นรูปง่าย และราคาถูก

“ทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์จากโฟมมักถูกผลิตขึ้นจากพลาสติก ที่นิยมที่สุดคือพอลิสไตรีนที่ได้จากอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว หากนำไปใช้กับอาหารที่มีความร้อนสูง ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” ผศ.ดร.ชิราวุฒิ กล่าว

ผศ.ดร.ชิราวุฒิ อธิบายต่อว่า โฟมโดยทั่วไปหากถูกความร้อนมากจะทำให้เสียรูปทรงและหลอมละลาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายแตกตัวออกมาและปนเปื้อนกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารสไตรีน หรือแม้แต่เบนซิน

ดังนั้น การประดิษฐ์นี้เป็นการพัฒนาการผลิตโฟมพอลิเมอร์เชิงประกอบที่ผลิตได้จากพอลิเมอร์ชีวภาพ ด้วยการเสริมแรงด้วยเส้นใยเซลลูโลสดัดแปรเพื่อเพิ่มสมบัติเชิงกล สมบัติเชิงความร้อน เพื่อนำมาประยุกต์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการให้บริการวิชาการตามวิสัยทัศน์ Marketplace of Solutions ที่พร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

 

You Might Also Like