22 กันยายน 2565…วันนี้ความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเรื่องที่แค่ “มีก็ดี” แต่กลายเป็นวาระที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ และบรรจุเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาความสำเร็จขององค์กร
ไม่เพียงแต่สภาพอากาศอันรุนแรง ความล้มเหลวจากการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ จะเป็นความเสี่ยงสูงสุดสามอันดับแรกสำหรับธุรกิจในช่วง 10 ปีข้างหน้าตามรายงาน “Global Risks Report 2021” ของ World Economic Forum แต่ผลสำรวจจากรายงาน IBM Global CEO Study ยังตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องนี้ในทิศทางเดียวกัน
ความยั่งยืน
วาระสำคัญขับเคลื่อนองค์กร
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าครึ่งหนึ่งของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิค มองว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นหนึ่งความท้าทายสูงสุดในอีกสองสามปีข้างหน้า อีกทั้งวันนี้ยังได้รับความกดดันในเรื่องนี้จากทั้งบอร์ด (73%) นักลงทุน (57%) หน่วยงานที่กำกับดูแล (51%) พันธมิตร (48%) และภาครัฐ (48%) โดยกว่า 80% ของผู้บริหารที่สำรวจมองว่า การขับเคลื่อนความยั่งยืนจะส่งผลเชิงบวกต่อผลประกอบการและการเติบโตขององค์กร
อย่างไรก็ดี การขาดมุมมองเชิงลึก ROI ที่ไม่ชัดเจน รวมถึงข้อจำกัดเชิงเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ผู้บริหารมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนความยั่งยืน
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เราเห็นในวันนี้ หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่ถูกมองว่าจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรมคือกรีนไอทีหรือกรีนคอมพิวติ้ง
ระบบไอที
เรื่องใกล้ตัวที่มองข้ามไม่ได้
วันนี้อุตสาหกรรมไอทีปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนระหว่าง 1.8% – 3.9% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์จะเพิ่มขึ้นถึง 35% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
International Energy Agency ยังได้ประมาณการณ์ว่าวันนี้ 1% ของไฟฟ้าทั่วโลกถูกใช้ไปกับดาต้าเซ็นเตอร์ และภายในปี 2025 ดาต้าเซ็นเตอร์จะใช้ 1/5 ของพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก ขณะที่ Association for Computing Machinery ระบุว่าจำเป็นต้องมีการจำกัดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนของระบบคอมพิวเตอร์ทั่วทั้งอุตสาหกรรม ICT หากต้องการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
กรีนไอที
แนวโน้มลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
กรีนไอที เป็นแนวทางทางที่มองถึงการลดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิต การใช้งาน หรือแม้แต่การกำจัดคอมพิวเตอร์ ชิป และชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การลดการปล่อยคาร์บอน การลดการใช้พลังงานทั้งในมุมผู้ผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และผู้ใช้งาน การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่ยั่งยืน หรือการใช้พลังงานทางเลือก
นอกจากนี้ยังรวมถึงการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มอายุการใช้งานของอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ การช่วยให้ผู้ใช้สามารถนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้
แอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอบีเอ็ม อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลี (IBM ASEANZK) เล่าว่า
“วันนี้ความยั่งยืนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดขององค์กร และเป็นหนึ่งในภารกิจท้าทายของผู้บริหารทั้งในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก เทคโนโลยีกรีนคอมพิวติ้งที่ช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการลดการปล่อยคาร์บอน หรือการลดการใช้พลังงานทั้งในมุมผู้ผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และผู้ใช้งาน จึงทวีความสำคัญไม่แพ้กัน”
ดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานมหาศาล และถือเป็นสัดส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมดขององค์กร แต่วันนี้เทคโนโลยีช่วยให้องค์กรสามารถลดการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตปริ้นท์ขององค์กรได้แล้ว ยังจะช่วยตอบโจทย์ท้าทายด้านความยั่งยืนขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ก้าวย่างกรีนไอที
ที่เป็นรูปธรรม
แอ็กเนสอธิบายว่าในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีสำคัญของโลก ไอบีเอ็มเองก็ได้ผนวกแนวคิดกรีนไอทีในทั้งอีโคซิสเต็มของธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต งานปฏิบัติการ ไปจนถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยี
ตัวอย่างเช่นการพัฒนาชิปขนาด 2 นาโนเมตร (nm) ตัวแลกของโลก ที่จะเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ไอทีต่างๆ นับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบขนส่งไปจนถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ โดยชิปดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 45% และใช้พลังงานน้อยลง 75% เมื่อเทียบกับชิปขนาด 7 นาโนเมตรในปัจจุบัน เทียบง่ายๆ ก็คือสามารถช่วยเพิ่มอายุแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสี่เท่า ทำให้ผู้ใช้สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือทุกๆ สี่วัน แทนที่จะต้องชาร์จทุกวัน
แอ็กเนสยกตัวอย่างว่า “เรื่องนี้อาจดูไม่ได้สลักสำคัญนักหากพิจารณาจากแค่ชิปหนึ่งชิ้น แต่หากคิดถึงการนำชิปหลายล้านชิ้นไปใช้ ย่อมเห็นภาพการลดการใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม”
ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
กรีนไอทีต่อยอดความยั่งยืน
เมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีอย่างดาต้าเซ็นเตอร์คือหนึ่งในต้นตอสำคัญของการใช้พลังงาน ระบบต่างๆ อย่างเมนเฟรมหรือเซิร์ฟเวอร์จึงเป็นส่วนที่ไอบีเอ็มต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดไอบีเอ็มได้พัฒนา IBM LinuxONE ที่มองเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่แนวคิดการออกแบบ
ฟรานซิส โก ผู้อำนวยการ IBM Z Systems และ LinuxONE จากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ของไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค อธิบายว่า IBM LinuxONE Emperor 4 เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการออกแบบ จึงสามารถลดการใช้พลังงาน 75% ลดการใช้พื้นที่ในดาต้าเซ็นเตอร์ลงได้ถึง 50% อีกทั้งยังสามารถลดฟุตปรินท์จาก CO2e 850 เมตริกตันต่อปี เมื่อเทียบกับเซิร์ฟเวอร์ในระดับเดียวกัน
“สิ่งนี้ยังตอกย้ำว่า วันนี้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีสามารถมาพร้อมกับประสิทธิภาพ ความปลอดภัยสูงสุด และการสนับสนุนความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมได้พร้อมๆ กัน”
ฟรานซิส เสริมว่า IBM LinuxONE Emperor 4 มีระบบ Scale-out-on-scale-up ที่รันเวิร์คโหลดด้วย high density และฟีเจอร์ในการเปิดใช้คอร์ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ โดยไม่สร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์เพิ่มขึ้น ช่วยให้สามารถเพิ่มการตอบสนองต่อความต้องการและการทำธุรกรรมที่พุ่งสูงขึ้นได้ดีขึ้น โดยรองรับการประมวลผลธุรกรรม 25,000 ล้านรายการต่อวันได้อย่างปลอดภัย และยังสามารถแทรคการใช้พลังงานได้แบบเรียลไทม์
“วันนี้กลยุทธ์ความยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นวาระสำคัญ แต่โอกาสในการสร้างนวัตกรรม ลดต้นทุน และสร้างจุดต่างให้องค์กร เทคโนโลยีไม่ใช่ต้นทุนของการทำธุรกิจอีกต่อไป และวันนี้องค์กรต้องมองความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจและตัวเร่งการทรานส์ฟอร์ม” แอ็กเนสกล่าวทิ้งท้าย