26 มกราคม 2563…กสิกรไทยได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก (GEI) ในปี 2563 ต่อเนื่อง และยังเป็นองค์กรแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้
ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของบริษัทที่เคารพในความแตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมความเสมอภาคของผู้หญิงในที่ทำงาน และรายงานความโปร่งใสด้านความเสมอภาคทางเพศ
ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินงานด้วยรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับคุณค่าความแตกต่างหลากหลายในองค์กร ทั้งในด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ ทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ซึ่งนำไปใช้ในทุกระดับขององค์กร โดยปัจจุบันคณะกรรมการธนาคารมีจำนวนทั้งสิ้น 18 คน เป็นกรรมการหญิง 7 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านอายุ คุณสมบัติ ทักษะ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์
สำหรับด้านพนักงาน ธนาคารส่งเสริมความเสมอภาคของผู้หญิงในที่ทำงานให้ได้รับโอกาสและความเท่าเทียมกันในการแสดงศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ อันสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมความเสมอภาคของผู้หญิงในที่ทำงาน และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ข้อ 5 Gender Equality หรือ ความเท่าเทียมทางเพศ ขององค์การสหประชาชาติ ส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยได้รับคัดเลือกจาก Bloomberg Gender-Equality Index หรือ GEI ให้เป็นองค์กรเดียวในประเทศไทยที่มีความเสมอภาคทางเพศในระดับมาตรฐานสากลเป็นปีที่สองติดต่อกัน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและนับเป็นก้าวสำคัญในระดับสากล ถือเป็นการดำเนินงานบนรากฐานการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ทั้งนี้ Bloomberg Gender-Equality Index (GEI) จะพิจารณาบริษัทมหาชนที่เปิดเผยข้อมูลด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่ครอบคลุม ข้อมูลทางสถิติของบริษัท นโยบาย การมีส่วนร่วมของชุมชน และผลิตภัณฑ์และบริการ โดยบริษัทที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนสูงกว่าเกณฑ์ประเมินระดับโลกในด้านการเปิดเผยข้อมูล ด้านข้อมูลสถิติและนโยบาย จากตัวชี้วัด 5 ด้าน คือ
1.ความเป็นผู้นำของผู้หญิง
2.การสร้างพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่น
3.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
4.วัฒนธรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วม นโยบายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ
5.การเป็นแบรนด์ที่ส่งเสริมสิทธิสตรี
หากมีครบทั้ง 5 ด้านจึงจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศของบลูมเบิร์ก โดยในปีนี้มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 325 บริษัท จาก 6,000 บริษัท ครอบคลุมกว่า 50 อุตสาหกรรม ใน 42 ประเทศทั่วโลก