22 มกราคม 2563…3,200-6,000 ล้านบาทคือประมาณการเม็ดเงินที่เสียโอกาสในการท่องเที่ยว สุขภาพ ร้านค้าต่าง ๆ หวังมาตรการรัฐจากการประชุมครม.21 ม.ค.จะช่วยไม่ให้เกิดการเสียโอกาสดังกล่าวมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล ดังนี้
จากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่มีความรุนแรง ทำให้เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่
1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก
2.ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด
3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) รถโดยสารและรถบรรทุก
4.ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
5.กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร
6.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
7.จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละอองและเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง
8.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย
9.ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน
10.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง
11.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
นอกจากนี้ หน่วยงานจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการ ได้แก่
1.หน่วยงานใน กทม. จัดให้มีการเหลื่อมเวลาการเข้าและเลิกงานเพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน โดยให้เริ่มเข้างานเวลา 10.00 น. และเลิกงานเวลา 18.00 น.
2.ในวันที่ 22 ม.ค. 2563 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 437 โรงเรียน ประกาศหยุดการเรียนการสอน
3.ทางกรุงเทพมหานครจัดให้มีการแจกหน้ากากอนามัย 4 แสนชิ้น ที่ศูนย์อนามัยทั้ง 68 แห่ง
4.ขอความร่วมมือให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในช่วงนี้
นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
แต่คงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชน เพื่อให้ปัญหาทุเลาลงในส่วนที่จะสามารถทำได้ อาทิ ในส่วนของภาคเอกชน ทั้งการตรวจสอบสภาพรถยนต์ การบริหารจัดการงานก่อสร้าง และกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชนและเกษตรกร อาทิ การไม่เผาขยะ หญ้าแห้ง หรือพืชผลทางการเกษตรต่างๆ