26 ธันวาคม 2562…ตามเป้าหมายการเป็นประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use หรือ RDU Country) ภายในพ.ศ. 2565 เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการระบบสาธารณสุขและมุ่งส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยในการใช้ยา และโรงพยาบาลมีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เปิดเผยว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผลและการใช้ยาในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ
“เราต้องการกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนของการผลิตยา บริหารยา หรือใช้ยา มีความตระหนักถึงการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดภัยในการใช้ยา เราเริ่มด้วยจริยธรรม โดยการนำเกณฑ์จริยธรรมมาใช้ในการซื้อขายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งมีการประกาศใช้ในโรงพยาบาล การนำมาใช้ในระบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการใช้ยา ทั้งในสถานพยาบาลและนอกสถานพยาบาล เช่น ร้านขายยา ณ วันนี้ กระบวนการที่เราทำมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราเน้นไปที่เรื่องของการตระหนักรู้ การสร้างจิตสำนึกในการใช้ยาให้สมเหตุผล ผมเชื่อว่า ทั้งหมดนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความยั่งยืน”
ดร.ภญ.บุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือพรีม่า (PReMA) กล่าวว่า “การดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสนับเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีรูปธรรม ความเชื่อมโยงต่อเนื่องที่จะมีแนวปฎิบัติด้านธรรมาภิบาลร่วมกัน ตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้คิดค้นยา ผลิตยา ผู้ให้ข้อมูลทางด้านยา สู่ บุคคลากรทางการแพทย์ ไปสู่ ผู้บริโภค ผู้ป่วย เพื่อคุณภาพการรักษาที่ถูกต้อง และได้รับความเชื่อมั่น เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง”
ประเทศไทยภายใต้การมุ่งสู่ RDU Country อันจะก่อให้เกิดผลที่ดีอย่างยิ่งต่อทั้งระบบสาธารณสุขโดยรวม และเพิ่มเศรษฐกิจของประเทศ การประชุม “ธรรมาภิบาลในระบบยา: ความก้าวหน้าเพื่อการร่วมมือสู่สากล” ครั้งนี้มีการนำเสนอกรณีศึกษาจากหลายประเทศ อาทิ แคนาดา ออสเตรเลีย ชิลี เม็กซิโก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุข และตอกย้ำให้เห็นว่า เกณฑ์จริยธรรมเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาได้อย่างเห็นผล รวมทั้งการนำระบบให้คำแนะนำ (Consultation) มาใช้แทนการร้องเรียน (Complain) และการวางกรอบด้านธรรมาภิบาลที่ชัดเจน เพื่อปรับใช้และทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
แอนดรูว์ เบลซี เลขาธิการฝ่ายวิชาการ ด้านการส่งเสริมจริยธรรมธุรกิจ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มเอเปค แสดงความเห็นในท้ายที่สุดว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการลงนามข้อตกลงระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และดำเนินตามมาตรการริเริ่มของเอเปค จึงมีศักยภาพในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าในภูมิภาค โดยเป็นโมเดลตัวอย่างที่อาจนำไปสู่การหากรอบฉันทามติสำหรับการทำงานร่วมกันด้านธรรมาภิบาลในประเทศ เพื่อผลักดันสู่ระดับสากลต่อไป