16 กรกฎาคม 2564…การตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เริ่มได้โดยการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมของธุรกิจ เพื่อนำไปวิเคราะห์วางแผนในการลดผลกระทบดังกล่าวในระยะสั้นและระยะยาว ถือเป็นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะยาว และส่งผลดีต่อการเติบโตของมูลค่าและความยั่งยืนขององค์กรในอนาคต
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP® รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะสรุปให้เห็นถึงการใช้พลังงานฟอสซิลโดยตรงและโดยอ้อมของภาคธุรกิจ เพื่อเป็นจุดตั้งต้นให้ภาคธุรกิจหันไปตระหนักและเริ่มเก็บข้อมูลว่าในกระบวนการทำธุรกิจของตน ใช้พลังงานฟอสซิลไปเท่าใด และหากคำนวณแล้วธุรกิจมีส่วนได้สร้างมลภาวะโลกร้อนเท่าใด และจะมีแผนระยะสั้นระยะยาวอย่างไรเพื่อมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบดังกล่าว
ข้อมูลเหล่านี้ในอนาคตจะเริ่มมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากคู่ค้า ลูกค้า สถาบันการเงิน นักลงทุนเป็นต้น มีแนวโน้มที่อยากทราบข้อมูลเหล่านี้มากขึ้นในอนาคต และเป็นสิ่งกดดันต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะผู้ที่เพิกเฉยอาจถูกต่อต้านโดยไม่สนับสนุนสินค้าและบริการของบริษัท จนกระทบต่อการลดลงของมูลค่าของกิจการได้
1.ธุรกิจควรมีข้อมูลการใช้พลังงานฟอสซิลของตนในปัจจุบัน
ผู้ประกอบการและพนักงานในภาคธุรกิจ ควรทราบว่า การใช้น้ำมันเชื่อเพลิงในการขนส่งคมนาคมหรือในกระบวนการผลิตสามารถทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิดฝนกรดและปรากฎการณ์เรือนกระจก นอกจากนี้ น้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็มาจากพลังงานฟอสซิล สำหรับก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้านั้นแม้จะทำให้เกิดมลพิษน้อยกว่าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น แต่การนำก๊าซธรรมชาติมาใช้นั้นจะเกิดก๊าซมีเทนรั่วสู่บรรยากาศประมาณร้อยละ 2 และเมื่อเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติก็จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเช่นกัน ในด้านลิกในต์ที่นำมาผลิตไฟฟ้า หากไม่มีระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งหากติดตั้งระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ได้มาตราฐานก็จะเพิ่มต้นทุนการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 20-30
ธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิลไม่มากก็น้อย อาจผ่านการจัดหาและขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน การขนส่งระหว่างการผลิต การขนส่งสินค้าไปยังผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค ในส่วนของการใช้พลังงานไฟฟ้าผ่านเครื่องจักรในกระบวนการผลิต ไฟฟ้าส่องสว่างในโรงงานและสำนักงานการใช้ไฟฟ้าผ่านเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น
ธุรกิจอาจเริ่มต้นโดยการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รูปแบบหลัก 2 ชนิด คือการขนส่งหรือการเดินทางกับการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการทำธุรกิจห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของตนเอง เช่น ช่วงก่อนการผลิต (Inbound Logistics) ช่วงการผลิต (Production) ช่วงหลังการผลิต (Outbound Logistics) โดยบันทึกความถี่ ปริมาณการใช้พลังงาน และค่าใช้จ่ายเอาใว้ การมีข้อมูลดังกล่าวจะเป็นพื้นฐาน (Benchmark) เอาไว้ให้ธุรกิจได้เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจมีสถานะการใช้พลังงาน เช่น น้ำมัน และไฟฟ้าอย่างไร เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์เพราะสามารถนำไปวิเคราะห์จุดที่อาจใช้พลังงานสิ้นเปลืองหรือปรับปรุงการใช้ให้มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมได้
2. ธุรกิจควรมีองค์ความรู้และวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน
แม้ว่าพลังงาน เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าจะยังคงเป็นพลังงานพื้นฐานที่ธุรกิจยังจำเป็นต้องใช้อยู่ในการผลิตสินค้าและบริการก็ตาม แต่ถ้าธุรกิจสามารถหาวิธีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือวิธีประหยัดกว่าเดิมที่ทำให้เกิดการลดการใช้พลังงานได้ นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้วยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบทางลบในด้านภาวะโลกร้อนได้
ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงเทคนิคต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การใช้น้ำมันหรือการใช้ไฟฟ้าเพราะสามารถสืบค้นได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งสามารถรวบรวมและเรียนรู้ได้ไม่ยากแต่มีข้อคิดสำหรับธุรกิจว่า การใช้พลังงานในธุรกิจนั้น ผู้ใช้ก็คือบุคลากรหรือพนักงานของธุรกิจนั่นเอง เช่น มีคนที่ต้องขับรถไปรับวัตถุดิบ ไปส่งสินค้า หรือมีคนที่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ต้องเปิดใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งกระจายอยู่ ณ จุดต่างๆ ขององค์กร
คำถามก็คือกลุ่มคนเหล่านี้มีการปฎิบัติในการใช้พลังงานอย่างไร มีความตระหนักรู้ที่จะใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีความห่วงใยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน รวมทั้งมีความรู้และทักษะในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า นอกจากสามารถสร้าง DNA ความตระหนักในเรื่องดังกล่าวลงไปยังพนักงานทั่วถึงทั้งองค์กรแล้ว ในหน่วยงานย่อยต่างๆ ที่พนักงานสังกัดอยู่ ยังมีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายและลงปฏิบัติเพื่อควบคุมการใช้พลังงานไม่ให้สิ้นเปลือง ซึ่งการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ที่ใช้พลังงานถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด และจะสามารถหาวิธีที่จะประหยัดพลังงานได้ดีขึ้นด้วย
ในหัวข้อที่แล้วสถานะการใช้พลังงานในปัจจุบันขององค์กรถือเป็นจุดตั้งต้นที่จะต้องตั้งคำถามกับพนักงานว่าในจุดนั้น เป็นจุดที่ดีที่สุดให้องค์กรหรือยัง หากพนักงานได้เห็น และองค์กรได้เติมความตระหนักรู้และทักษะให้กับพนักงาน เมื่อพนักงานรู้ เข้าใจและเข้าร่วมกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนเพื่อช่วยนำไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมขององค์กร การประหยัดพลังงานก็จะเกิดขึ้น
3. ทำดีต้องกล้าเปิดเผย
หัวข้อนี้ไม่ได้หมายความว่า หากเราทำดีแล้วให้เราอวดตัว แต่เป็นเรื่องที่จะชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลการประหยัดพลังงาน เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (Stakeholders) ทั้งใกล้และไกลอยากรู้ เพราะทุกภาคส่วนต่างก็กังวลกับปัญหาภาวะโลกร้อน ข้อมูลที่บอกว่าธุรกิจแต่ละแห่งได้ดำเนินการอะไรบ้างเพื่อช่วยลดปัญหานี้ การใช้และการประหยัดพลังงานก็จะเป็นหัวข้อหนึ่งของการดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ธุรกิจที่ทำได้ดี
เมื่อเปิดเผยข้อมูลว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ผลเป็นอย่างไร จะสะท้อนให้เห็นถึงการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ แสดงถึงความใส่ใจขององค์กรที่จะทำธุรกิจอย่างประณีต ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้เกี่ยวข้อง ในระยะยาว ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง ส่งผลดีต่อการเติบโตของมูลค่าและอยู่ในข่ายของบริษัทที่มีความยั่งยืน
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ไม่ได้ทำเรื่องการประหยัดพลังงานกับกระบวนการภายในขององค์กรตนเองเท่านั้น แต่ยังแบ่งปันวิธีการไปยังคู่ค้า ลูกค้า ชุมชน เป็นต้น เพื่อช่วยให้เกิดผลลัพธ์การประหยัดพลังงานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงจะสามารถรวมพลังแก้ไขภาวะโลกร้อนร่วมกันได้ อย่างไรก็ดีการลดการใช้พลังงานฟอสซิลโดยตรงถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น การสนับสนุนให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดเป็นต้น ก็เป็นอีกแนวทางที่จะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลลดลงได้ ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป