BIODIVERSITY & REGENERATIVE

ประเทศไทยมีโอกาสไหม?สู่การแปรสภาพเป็นทะเลทราย

5 มิถุนายน 2567…Theme ของวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้คือ “Our land, Our Future. We are#GenerationRestoration” ประเทศไทยใช้คำว่า “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤติภัยแล้ง”

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) คือ สภาวะเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่แห้งแล้ง จากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลจากการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ การกลายสภาพเป็นทะเลทรายยังหมายถึงสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งสูญเสียความชุ่มชื้นเพราะการขาดน้ำเป็นเวลานาน จนส่งผลให้ดินเกิดการแตกระแหง เสื่อมสภาพลง และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของสภาพภูมิอากาศโดยรอบและความหลากหลายของพืชพรรณต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เรียบเรียงข้อมูลถึง ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวการณ์กลายสภาพเป็นทะเลทราย ประกอบด้วย

• จากธรรมชาติ : ความเสื่อโทรมดินตามธรรมชาติเกิดจากการชะล้างพังทลายของดิน(Soil Erosion) และการผุพังจากกระแสลมและคลื่นน้ำ (Weathering) เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียคุณสมบัติของดิน ทั้งในทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ

• สภาพภูมิอากาศ : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน การคายน้ำ และอุณหภูมิ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อภาวะการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการสูญเสียความชื้นในดิน (Soil Moisture) การสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลาย (Soil Erosion) รวมทั้งการสูญเสียแร่ธาตุในดินที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม (Soil Degradation)

• กิจกรรมของมนุษย์ : มีกิจกรรมของมนุษย์มากมายที่ถูกดำเนินไปอย่างไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียความสมดุลระบบนิเวศทางธรรมชาติความแปรปรวนปริมาณหรือวัฎจักรน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่การตัดไม้ทำลายป่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตรปริมาณมากที่นำไปสู่การสูญเสียธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดินและกลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกลายสภาพเป็นทะเลทรายสูงขึ้น

 

องค์การสหประชาชาติ รายงานว่าประชาชนกว่า 2 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง มีแนวโน้มกลายเป็นทะเลทราย ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แอฟริกา เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง โดยกว่า 15.5% ของที่ดินของโลกได้เสื่อมโทรมไปแล้ว และเพิ่มขึ้น 4% ในรอบหลายปี โดยในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมก็มีโอกาสแปรสภาพเป็นทะเลทรายสูง ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงได้ก่อตั้งอนุสัญญาขึ้น ภายใต้กรอบUN คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification (UNCCD)  เพื่อเป็นกรอบข้อตกลงทางกฎหมาย ในการจัดการการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและผลกระทบจากภัยแล้ง โดยมีสมาชิก 197 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยจะมีการประชุม Conference of the Parties (COP16) ครั้งต่อไป ของอนุสัญญาที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในต้นเดือนธันวาคม 2567 นี้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกเดือดในปัจจุบันส่งผลและเร่งให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าสู่การกลายสภาพเป็นทะเลทรายรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1.5-2.0 องศาเซลเซียส จะสามารถนำไปสู่การสูญเสียน้ำและภาวะแห้งแล้งมากถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมดและเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทรายความสามารถของดินในการสร้างผลผลิตและอาหารเพื่อรองรับประชากรมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆก็จะไม่เพียงพอการป้องกันและแก้สามารถดำเนินการได้ด้วย

• การปลูกป่าและการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ

• การปรับปรุงการระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบการใช้นำอย่างมีประสิทธิภาพ

• การบำรุงรักษาดิน การปลูกพืชคลุมดิน การลดการใช้สารเคมี

• การหยุดยั้งการบุกรุกและตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

 

สำหรับโอกาสการกลายเป็นทะเลทรายในประเทศไทยนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการศึกษาวิเคราะห์ และการประเมินจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรจะได้รับ พบว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายกว่า 6.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่ ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบ 2.4 ล้านไร่ และพื้นที่สูง 4.5 ล้านไร่ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเข้าใจเพื่อนำไปสู่การป้องกันไว้ล่วงหน้า และการเผยแพร่ข้อมูลเชิงพื้นที่มาใช้เพื่อเตือนภัยจะสามารถ ลดระดับความรุนแรงของพื้นที่เสี่ยงภัยต่อภาวะการเป็นทะเลทรายลงได้ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว การเผาป่า เป็นต้น

ความร่วมมือเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องพัฒนาเครือมือและทรัพยากรในการรักษาและฟื้นฟูที่ดิน เพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการปรับตัวต่อภัยแล้ง การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ้างอิง

-คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย. 2021. การเกิดขึ้นของ ทะเลทราย ผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ และ ภาวะโลกร้อน. NATIONAL GEOGRAPHIC (https://ngthai.com/)

-ทะเลทราย การแปรสภาพเป็นทะเลทราย: คืออะไร สาเหตุ ผลที่ตามมา และแนวทางแก้ไข | Renovables Verdes (https://www.renovablesverdes.com/)

-ยุทธศาสตร์  อนุรักติพันธ์. 2560. แบบจจำลองเชิงพื้นที่การเป็นทะเลทรายของประเทศไทย. กรมพัฒนาที่ดิน

 

You Might Also Like