25 พฤศจิกายน 2561…ทุกวันนี้ คนเริ่มบ่นกันมากขึ้นว่า “ทำไมเงินหายากจัง” บางคนถึงกับใจคอไม่ค่อยดีว่าจะมีเงินพอใช้ถึงสิ้นเดือนหรือเปล่า
พอพูดกันแบบนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงินที่จะเหลือไปเก็บออม หรือลงทุน
แต่เรื่องการเก็บเงิน ไม่มีคำว่าสาย ขอเพียงเริ่มลงมือทำ
พอพูดถึง “การเก็บออมเงิน” หรือ “การลงทุน” ยังมีหลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องของคนมีเงินเยอะๆ ส่วนใครที่เงินเดือนน้อยๆ ก็มีคำถามตามมาว่า “แล้วจะให้เริ่มต้นยังงัย” เพื่อให้เงินอันน้อยนิดที่นำไปเก็บไปลงทุน งอกเงยขึ้นไปเป็นแสนเป็นล้านบาท
ไม่ยาก !
งั้นมาเริ่มต้นกันเลย
วิธีการนี้เรียกว่า การออมหรือการลงทุนแบบสม่ำเสมอหรือแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging : DCA) ก็คือการเก็บเงินเป็นงวดๆ ด้วยจำนวนเงินครั้งละเท่าๆ กัน เช่น ออมเงินหรือลงทุน 1,000 บาททุกๆ วันที่ 1 ของเดือน แล้วก็ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แบบไม่ขาดตกบกพร่อง นอกจากจะเก็บออมกับบัญชีออมทรัพย์ ยังใช้ได้ดีกับการลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือหุ้น
ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA ก็คือ
เงินทุนน้อยก็เริ่มลงทุนได้ สามารถเริ่มลงทุนได้ด้วยการใช้เงินลงทุนต่องวดในแต่ละเดือนไม่มากนัก
ตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนไปออมหรือลงทุนได้โดยอัตโนมัติ
มนุษย์เงินเดือน ทำงานประจำ หรือธุรกิจส่วนตัวก็ลงทุนได้ เพราะไม่ต้องติดตามข่าวหรือติดตามราคาหุ้นในตลาดหุ้นมากนัก จึงไม่กระทบกับกิจการหรืองานที่ทำอยู่ เพียงแต่ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจซื้อขายหุ้นเท่านั้นเอง
ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมในระดับที่น่าพอใจ
ช่วยลดความเสี่ยงของการเข้าลงทุนผิดจังหวะ
ในภาวะตลาดขาลง ราคาต้นทุนที่ซื้อก็จะลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งราคาต้นทุนถัวเฉลี่ยที่ต่ำลงนี้จะช่วยให้ได้รับผลกำไรโดยรวมที่สูงขึ้นเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นในระยะยาว
มาดูตัวอย่างกัน สมมติว่าตัดสินใจแบ่งเงิน 1,000 บาท มาลงทุนกองทุนรวม 1 กอง โดยทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เราลงทุน หักเงินจากบัญชีเงินเดือนไปลงทุนโดยอัตโนมัติ
ถ้าเราลงทุนเดือนละ 1,000 บาท (1 ปี เท่ากับลงทุน 12,000 บาท) ลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ถอนออกมาแม้แต่บาทเดียว 1 ปีผ่านไป ถ้าได้ผลตอบแทน 5% จะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 12,330 บาท ถ้าได้ผลตอบแทน 8% จะมีเงินเก็บ 12,532 บาท
ถ้าลงทุนแบบนี้ทุกเดือนๆ ผ่านไป 10 ปี ถ้าได้ผลตอบแทน 5% จะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 155,929 บาท ถ้าได้ผลตอบแทน 8% จะมีเงินเก็บ 184,165 บาท
และถ้าเราลงทุนไปเรื่อยๆ แบบนี้เดือนละ 1,000 บาท จนครบ 20 ปี ถ้าได้ผลตอบแทน 5% จะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 412,746 บาท ถ้าได้ผลตอบแทน 8% จะมีเงินเก็บ 592,947 บาท
และถ้าลงทุน 30 ปี ถ้าได้ผลตอบแทน 5% จะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 835,726 บาท ถ้าได้ผลตอบแทน 8% จะมีเงินเก็บ 1,500,295 บาท
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ถ้ามีเงินเดือนสูงขึ้นก็ควรแบ่งเงินมาออมมาลงทุนสูงตามไปด้วย เช่น ปีแรกเดือนละ 1,000 บาท ปีถัดไปเป็นเดือนละ 1,200 บาท ปีถัดไป 1,300 บาทต่อเดือน ถ้าทำอย่างนี้ได้เงินเก็บในปีถัดๆ ไปจะงอกเงยขึ้นอย่างน่าประทับใจ และจะได้หยิบเงินล้านก่อนวัยเกษียณอย่างแน่นอน
พบเรื่องราว “ออมเงินแบบบ้านๆ” ครั้งต่อไปครับ…ปัญญา นิยม
บทความ “ออมเงินแบบบ้านๆ” โดย ปัญญา นิยม
Cr. ภาพบางส่วน