8 มิถุนายน 2565…เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการได้ออกข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทในเวทีต่างๆ ทั้งเวทีระดับโลก ภูมิภาค หรือระดับบริษัท
พบว่า หญิงไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะกรรมการของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย และมีบทบาทผู้นำ (Leadership) ในบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในฐานะ “ประธานกรรมการ” หรือ “ผู้บริหารระดับสูงสุด” ของบริษัทจดทะเบียน
กรรมการ (Directors) ในคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) เป็นอีกกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากกรรมการเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน ที่มีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ ตลอดทิศทางการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและเกิดประโยชน์ต่อบริษัทในระยะยาว
ดังนั้น การคัดเลือกกรรมการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมจึงมีส่วนสำคัญกับบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางเพศ และส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กร สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ประการ โดยเฉพาะเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ประการที่ 5 คือ ความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ ใน OECD Corporate Governance Factbook (2021) ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร กรอบการดำเนินงานด้านบรรรษัทภิบาลของหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงานทั่วโลก ตามหลักการบรรษัทภิบาลของ G20/OECD พบว่า หลักการดังกล่าวให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศของคณะกรรมการ (board diversity) และเสนอว่า
ประเทศต่างๆ อาจต้องการพิจารณามาตรการต่างๆ เช่น เป้าหมายโดยสมัครใจ ข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูล โควตาของคณะกรรมการ และความคิดริเริ่มส่วนตัวที่ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง (Principle VI.E.4) และมีความเชื่อว่า กรรมการที่เป็นผู้หญิงจำนวนมากขึ้น อาจนำเสนอมุมมองที่เป็นอิสระ (independent views) ในที่ประชุมคณะกรรมการและมีความเข้นข้นในกระบวนการตรวจสอบ (monitoring function) ซึ่งในประเทศต่างๆ ได้ผลักดันให้เกิดความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการปรับเปลี่ยนกฎหมาย การปรับเกณฑ์ การกำหนดเป็นข้อเสนอแนะ เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยมีการผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศเช่นกัน โดยเริ่มจากบริษัทจดทะเบียนหนึ่ง ๆ ควรมีผู้หญิงเป็นกรรมการอย่างน้อย 1 ท่าน จนกระทั่งปัจจุบันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงในบทบาทในคณะกรรมการเพิ่มขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายปี 2565 ที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยว่า 30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ
จัดทำโดย
สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย