14 พฤษภาคม 2562…ปีละกว่า 5.5 ล้านบาท! คือรายได้รวมของกลุ่มที่เชื่อเลมอน ฟาร์ม และสสส. หนุนเกษตรกรรายย่อยขยายเกษตรอินทรีย์ ใช้มาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS ลดความเสี่ยงจากปลูกข้าวที่ประสบภาวะภัยแล้ง
สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมกาการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม ให้รายละเอียดระหว่างเข้าพื้นที่ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อย ในอำเภอด่านช้าง และอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่กลุ่มรักษ์ด่านช้างมีสมาชิก 6 ราย พื้นที่อินทรีย์ 30 ไร่ ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน มีกลุ่มสมาชิกเกษตรกรอินทรีย์ 31 ครอบครัว พื้นที่อินทรีย์ 247 ไร่
“เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ ล้วนเปลี่ยนจากเกษตรกรใช้สารเคมี เป็นเกษตรอินทรีย์ PGS อย่างสมบูรณ์ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm Organic PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เพื่อสร้างกระบวนการสุขภาพดีแก้ NCDs โดยใช้อาหารเกษตรอินทรีย์ และช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย”
Non-Communicable diseases คือกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจอันตรายถึงชีวิต ในปัจจุบัน กลุ่มโรค NCDs จัดเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของคนทั่วโลก
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของ Lemon Farm Organic PGS Model ประกอบด้วย 5 เรื่อง
-การดำเนินการส่งเสริมตลาดห่วงโซ่
-การใช้การตลาดนำการผลิต
-การเติมองค์ความรู้การผลิตบนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS
-การจัดการผลผลิต
-การสร้างความเข้มแข็งของระบบกุ่ม
“5 เรื่องข้างต้นจะทำให้เกษตรอินทรีย์ทำได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง และกลุ่มที่สำเร็จจะมีลักษณะสำคัญ คือการเป็นผู้นำเสียยสละ และเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งจริงจังบนวิถีเกษตรอินทรีย์ และมุ่งสู่วิถียั่งยืน”
ตัวอย่างเกษตรกรอินทรีย์ทั้ง 2 อำเภอ ที่มีโอกาสได้ไปดู พูดคุย และกินอาหารที่เป็นผักอินทรีย์สดๆ มาจากสวนนั้น คนเหล่านี้โดยเฉพาะผู้อาวุโสล้วนเคยผ่านอาชีพเกษตรทั่วไป ที่ใช้สารเคมีในการ ทำนา หรือปลูกข้าวโพด แล้วในที่สุดก็หลีกไม่พ้นเรื่องที่เคยได้ยินจากเพื่อนร่วมอาชีพเคยบอกเช่น เงินไม่เพียงพอ เพราะใช้เป็นค่าปุ๋ยเคมี ค่ายากำจัดแมลง หรือต้องเลิกทำนาปรังตามนโยบายรัฐบาลเป็นต้น แล้วได้รู้จักพร้อมลงมือทำเกษตรอินทรีย์ PGS
ประเสริฐ จันทร์ไกร กลุ่มรักษ์อินทรีย์ พีจีเอส ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และ มานิตย์ แทนเพชร สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน จ.สุพรรณบุรีเล่าจากประสบการณ์ตรง
ประเสริฐหยุดเรื่องปลูกข้าวโพด แล้วมุ่งเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ 2543 ก่อนจะเข้าสู่ระบบ PGS ในปี 2558 ปลูกผักบุ้ง กวางตั้ง ฮ่องเต้ คะน้า กระหล่ำปลี กระหล่ำดอก ไชเท้า มะเขือยาว มะเขือเทศ
“สูตรลับ ผมปลูกหลายๆ อย่าง ปลูกทุกอย่างอย่างละเล็กละน้อย ใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเอง เอาขี้ไก่หมักกับกากน้ำตาลในพื้นที่ 14 ไร่ ซึ่งทำกันเอง 3 คน พ่อแม่ลูก เราไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ที่นี่หมัดกระโดดเยอะ ก็ไม่เป็นไรปล่อยให้มันกิน ที่เหลือจากที่ไม่กินเราก็ส่งขายที่เลมอนฟาร์ม”
ประเสริฐเล่า ทีมจากกทม.เลยถามต่อว่า “ไม่คิดสักนิดเหรอว่า ใช้ยาฆ่าแมลงสักหน่อย”
“ไม่มี ต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ผมแผ่เมตตาให้หมัดกระโดดครับ ปล่อยให้กิน 80 แล้วเหลือที่ไม่ได้กิน 20 ก็เอาขายส่งเลมอนฟาร์ม เพราะหากฆ่ายิ่งมาก”
ประเสริฐขยายความต่อว่า ที่เข้าสู่ระบบ PGS เพราะมีระบบคุ้มครองมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับรองตัวเกษตรกรเอง รับรองตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะตัวเขาเองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะใช้ระบบเอกชนก็ไม่ได้มีทุนมากพอ
“ด่านช้าง มีอินทรีย์จริงนะ เรามาทำด้วยใจ ส่วนราชการเข้ามาได้เพราะมีอินทรีย์กลุ่มใหญ่ พอเลมอนฟาร์มเข้ามา เราภูมิใจ”
มานิตย์ มีพื้นที่ที่เคยทำนามาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษ ผ่านวิกฤตมากมาย แต่ก็มีเจอวิกฤตแบบสุดๆในปี 2557 ไม่มีน้ำให้ทำนาจึงต้องตัดใจหยุดทำนา ! แล้วจะทำมาหากินอะไร ซึ่งก็เป้นเวลาที่ได้เจอเลมอนฟาร์ม
“เรื่องปลูกผักไม่เคยคิดเลย เริ่มต้นทำผัก 1 ตารางเมตรปลูกผีกสลัด ปลูกแล้วกินไม่เป็นครับ ต้องไปถามว่ากินยังไงเพราะกินแล้วออกขมๆ เคยเอาไปผัด เขาบอกว่าต้องกินกับน้ำสลัด”
มานิตย์ขยายความต่อว่า การเริ่มต้นปลูกผักสลัด 1 ตรม.นำผักสล้ดใส่ถุง ถุงละ 20 บาท จัดไปขายในตลาดอ่างทอง 3 กก.ซึ่งก็ขายได้หมด จึงขายไปพื้นที่ปลูกผัก จนกระทั่งปัจจุบัน ปลูกผักส่งขายเฉพาะเลมอนฟาร์ม 40 ก.ก./สัปดาห์ ราคาทุน 96 บาท/กก.
“เดิมทำนา ปีหนึ่งทำ 2 ครั้ง ได้ไร่ละ 1 ตันเท่ากับว่าทำ 2 ครั้งได้ 2 ตัน ราคาข้าวตันละ 7,000 บาท ส่วนปลูกผัดสลัด PGS คิดต้นทุนเป็นตารางเมตร 18 บาทต่อครั้ง ส่วนทำนาคิดเป็นตารางเมตรละ 8 บาทต่อปี การปลูกผัก ผมใช้พื้นที่แค่ 450 ตารางเมตร เหลือเนื้อที่ 170 ตารางเมตร ผมมีรายได้กับผักสลัดอินทรีย์ PGS มากกว่าการทำนา และสุขภาพดีกว่า”
จากการเปลี่ยนชีวิตของมานิตย์ เป็นแรงบันดาลใจให้ งามตา ทองดียิ่ง ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์เคมี เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนมาก่อน 10 ปี เบื่อ!
“กลับบ้าน เริ่มต้นจากการทำแปลงเกษตรเล็กๆ ไว้บริเวณบ้านเพื่อที่จะเก็บกินเอง พอมีโอกาสได้ไปงานกับกลุ่มทุ่งทองฯ เห็นการทำเกษตรอินทรีย์จากพ่อมานิตย์และได้คุยกับลุงปัญญา ใคร่ครวญ ผู้นำกลุ่มในส่วนของการทำระบบนิเวศ ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากปรับพื้นที่ของตนเอง ปรับผืนนาให้เป็นสวนผสมผสาน มีทั้งนา น้ำ มีผักและผลไม้จำนวน 9 ไร่ แม้จะเป็นมือใหม่ที่เริ่มทำอินทรีย์ แต่เรามั่นใจว่าระบบกลุ่มจะช่วยให้ทำได้สำเร็จ และมั่นใจว่าการทำเกษตรอินทรีย์นี่แหละคือสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคงได้”
จิราภัทร ปานสูง เริ่มต้นจากการทำงานบริษัท จนถึงจุดที่เริ่มคิดความไม่มั่นคงในงาน จึงอยากที่จะหาอาชีพเสริมและสนใจการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยเริ่มเรียนรู้จากสื่อต่างๆ และเริ่มทดลองปลูกผักกินเอง และประจวบกับงามตา รุ่นพี่ที่ทำงาน ได้แนะนำให้รู้จักกับกลุ่มทุ่งทองฯ ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกลุ่ม การประชุม ช่วยแพ็คผัก ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและเห็นถึงการตลาดที่ชัดเจน
“เห็นความเป็นไปในชีวิต ตัดสินใจลาออกจากงานประจำทันที ตอนนั้นมีพื้นที่เพียง 200 ตารางเมตร ปัจจุบันออยสามารถผลิตผักสลัดได้ถึง 25 ก.ก./สัปดาห์ พื้นที่น้อยไม่เป็นปัญหาต่อการผลิตเลย โดยพ่อปัญญาและสมาชิกกลุ่มคอยเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นเกษตรกรน้องใหม่ไฟแรงที่เป็นอีกแรงหนุนสำคัญในการร่วมพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่อง”
สุวรรณกล่าวถึงการสร้างพื้นที่งาน และอาชีพให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรแบบมีอนาคต และสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดได้ เกษตรกรหลายรายสามารถชักชวนลูกชาย ลูกสาวกลับบ้านได้ เป็นกกำลังสำคัญและเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศบนวิถีเกษตรอินทรีย์
“สสส.และเลมอนฟาร์ม มีเป้าหมายขยายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อำเภออู้ทอง อำเภอด่านช้าง ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรรายย่อยให้มั่นคงขึ้น”
สุวรรณากล่าวในท้ายที่สุดว่า ปัจจุบันเลมอนฟาร์มดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS ใน 14 กลุ่มพื้นที่ 3,000 ไร่ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ขยายอย่างต่อเนื่อง
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง