17 มิถุนายน 2562…หวังช่วยเหยื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ตอกย้ำบทบาทพาร์ทเนอร์เทคโนโลยีดิจิทัลต่อการพัฒนาสังคม ต่อยอดโครงการ “พลิกไทย” โดยดีแทค อย่างเป็นรูปธรรม
พัชรากรณ์ ปันสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์ด้านการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกันแลกประสบการณ์ งานที่เกี่ยวเนื่องกับเพศหญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว และเรื่องของ My Sis
พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม ผู้ริเริ่มโครงการแชทบอทจากโครงการ “พลิกไทย” ดีแทค เพื่อลดความรุนแรงผู้หญิงและเด็กในครอบครัว ผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว หากแจ้งความก็ยอมรับว่ากระบวนการตำรวจมองเรื่องนี้เป็นการทะเลาะเบาะแวง
“การถูกข่มขืน เมื่อแจ้งความ ตำรวจอาจจะต้องขอดูผลแพทย์ เพื่อดูว่าผู้หญิงยินยอมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผิดมาก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้หญิงบางคนสู้สุดชีวิต จะมีร่องรอยบนร่างกาย แต่ผู้หญิงบางคนช๊อค! เลยอยู่นิ่งๆ ซึ่งจะเห็นว่าปฏิกิริยาการตอบโต้ทางร่างกายไม่เหมือนกัน”
พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม ขยายความเพิ่มเติมว่า หลายคนกลัวการไปแจ้งความ ดังนั้นการได้ปรึกษากับแชทบอท My Sis ก่อนจะช่วยให้ผู้เสียหายได้มองเห็นช่องทางที่จะติดต่อ และลู่ทางในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนเนื้อหาที่ป้อนให้กับแชทบอทนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและสากล ซึ่งหลีกเลี่ยงคำถามที่อาจซ้ำเติมผู้ประสบเหตุ และทำให้เรื่องของกฎหมายเข้าใจง่ายมากขึ้น
“สิ่งที่ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องการ ไม่ใช่ความคิดเห็นหรือคำตัดสินว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด แต่ต้องการเพื่อนที่สามารถรับฟังเรื่องราว ให้คำปรึกษาและช่วยหาทางออกต่อสถานการณ์ที่พบเจอมากกว่า ซึ่งเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าแชทบอทจะเข้ามาช่วยให้เหยื่อเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรมมากขึ้น ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเทคโนโลยีในงานด้านยุติธรรม”
ดร.อณูวรรณ เล่าถึงอัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย 80-90% ของเหยื่อเลือกที่จะไม่แจ้งความหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“สำหรับเหยื่อหรือผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุตั้งแต่ 5-90 ปี แต่ 60% ของผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุ 5-20 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว สะท้อนได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น การทำให้ผู้ประสบเหตุเข้ากระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”
TIJ ให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งการเข้าถึงหลักยุติธรรมสำคัญมาก และเป็นธรรมที่จะเกิดได้จริงโดยแชทบอทเข้ามาทำงาน ถือเป็นปรัชญาหนึ่งที่ TIJ สนับสนุนสร้างเครื่องมือบางอย่างที่เป็น First Age โดย My Sis ถือเป็นแชทบอทแรก(ที่ไม่ได้ขายสินค้า)ของอาเซียน ที่เป็นตัวช่วยคิด มีข้อมูลถูกต้อง และลิงก์กลับไปสู่อำนาจรัฐเช่นสายด่วน พม.ช่วยเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวได้
พัชรากรณ์ กล่าวว่า My Sis เป็นแชทบอทที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยให้เหยื่อหรือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเข้าถึงข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล เปรียบเหมือนกับพี่สาวหรือเพื่อนที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. โดยทำหน้าที่รับฟังและให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ใช้งานง่าย เนื้อหาจะครอบคลุม 4 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือ
1.การถูกทำร้าย
2.การถูกล่วงละเมิดทางเพศ
3.การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือไม่ได้ตั้งใจ
4.การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการให้ความรู้เบื้องต้น โดย พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการให้กำลังใจ ซึ่งช่วยทำให้ผู้ประสบเหตุสามารถเอาตัวรอดได้และมีที่พึ่ง
“โอเพ่นดรีมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างและปรับใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นสุขภาพ การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ โดยมุ่งหวังให้เป็นรากฐานหรือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่ง My Sis เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งหวังในการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาสังคม”
สุนิตย์ เชรษฐา แห่ง Change Fusion ซึ่งเป็นเครือข่ายในการเริ่มต้นพัฒนา My Sis ตั้งแต่วันที่เริ่มเกิดในโครงการ “พลิกไทย” ช่วยขยายความต่อว่า เมื่อเหยือได้คุยกับแชทบอท จะมีความรู้ทางกฎหมายมากขึ้น เช่นในแชทบอท จะถามเมื่อบอกว่าถูกข่มขืน เพิ่งเกิด หรือเกิดมาแล้ว 3 วัน ต้องแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง หรือข่มขืนแบบไม่ได้ยินยอม แต่โดนแฟนขืนใจ จะไปแจ้งความต้องมีหลักฐานะอะไรบ้างเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย และยังเป็นเรื่องขอเงินชดเชยคู่กรณี ทดแทนความเสียหายจากรัฐ กองทุนยุติธรรม แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ใหม่ แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าจะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร
“ส่วนหนึ่ง My Sis ยังต้องเก็บข้อมูล คำต่างๆ มากมายในช่วงที่มีการพัฒนา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้เข้าไปช่วยตั้งคำถามต่างๆ เพื่อที่บอทจะได้จดจำ โดยที่ผ่านมาคำที่เราเจอมากที่สุดคือ แฟนตบ คำถามคือ ทำอะไรได้บ้าง อีกคำหนึ่ง ลวนลาม ซึ่งบอทจะเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ส่วนการตอบจะเป็นหลักวิชาการในการตอบ ไม่ใช่อารมณ์”
ความท้าทายของการพัฒนาแชทบอท My Sis คือ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมยังไม่แพร่หลาย การออกแบบบทสนทนาและคำตอบต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ หากมีผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำของคำตอบด้วย
ทั้งนี้ การใช้งานจะมุ่งไปสู่การหาทางออกให้แก่ผู้รับคำปรึกษา (Solutions) โดยจะเริ่มทดลองใช้งานในสถานีตำรวจพัทยา เพราะมีเรื่องคุกคามทางเพศมาก ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย รวมถึงเด็กชายด้วย นอกจากนี้เป้าหมายที่น่าสนใจคือกลุ่มที่จังหวัดระยอง เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง มีแรงงานต่างชาติมาก เรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับสิทธิมนุษยชนด้วย
ปัจจุบัน My Sis ยังอยู่ในขั้นการทดลอง (BETA) ซึ่งยังเป็นในรูปแบบการเลือกคำตอบ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาสู่การถามตอบแบบข้อความ (Free Text) ซึ่งจะทำให้การสนทนาระหว่างเหยื่อและ My Sis เป็นธรรมชาติและตรงประเด็น
พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เสริมว่านอกจากการพัฒนาแชทบอท My Sis แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็กำลังรณรงค์เปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวผ่านแคมเปญ #standbyme เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่เพื่อนหรือผู้พบเห็นก็สามารถร่วมแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สามารถเข้ามาใช้งาน MySis โดยปรึกษาผ่าน Facebook “มายซิส My Sis bot” Messenger http://m.me/mysisbot โดยคาดหวังว่าภายใน 3 เดือนจะมีคนเข้าถึงมากกว่า 3 แสนคน
เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด
เพราะเคยเกิดกับตัวเองเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นรถเมล แล้วก็ถูกผู้ชายคนหนึ่งมายืนด้านหลังใกล้ตัวมาก และก็รู้ในเวลานั้นทันทีว่าถูกละเมิด จับกระโปรงขึ้นมาดูก็เห็นกระโปรงเปียก…นาทีนั้นช๊อค! ยืนนิ่ง ก่อนจะรีบลงจากรถ ซึ่งอาการช๊อค เป็นเหมือนที่พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อมอธิบายไว้ และเวลานั้น ไม่รู้จะเล่าจะคุยให้ใครฟัง ซึ่งพ่อและแม่ก็รู้ไม่ได้ ดังนั้นการมี My Sis แชทบอททำหน้าที่เป็นปรึกษาแบบนี้ จะช่วยผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศได้ในเบื้องต้น
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด”
เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง