BIODIVERSITY & REGENERATIVE

เลิกใช้สารเคมี มีรายได้จากผักอินทรีย์กว่า 5 หมื่นบาท/เดือน

23 กุมภาพันธ์ 2562…รับได้ไหม กับการเปลี่ยนวิถีเช่นชื่อเรื่องนี้ แถมต้องใส่แรงใจ แรงกายเต็ม 100 ด้วย เกษตรกรของจังหวัดน่านอย่างน้อย 2 คนทำได้ ด้วยการตัดสินใจเด็ดเดี่ยว

มีโอกาสได้พบคนน่านอยู่ 2คนจากการตามเลม่อน ฟาร์มไปดูพื้นที่ มาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน ก็คือพื้นที่ที่ได้รับการบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ว่า ใช้เคมีเข้มข้น ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ปัญหาป่าน่านและการเกษตรเคมีเข้มข้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเมืองน่าน เคยติด Top 5 นำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใช้ในพื้นที่มากที่สุด พร้อมกับอีก 1 ของที่สุดที่ ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่านเคยกล่าวไว้

“จะมีอะไรที่แข็งแรงเท่าห่วงโซ่ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เอาของมาให้ก่อน ยังไม่ต้องจ่ายเงิน เมื่อได้ผลผลิตแล้วเกษตรกรไม่ต้องหาตลาด มีคนมารับซื้อถึงที่”
  • ถามเกษตรกรว่า รู้ไหม สารเคมีที่ใช้อันตรายมาก ตอบ รู้
  • ถามเกษตรกรว่า รู้ไหม ขยายพื้นปลูกข้าวโพด รุกล้ำป่าด้วย ตอบ รู้
แต่เงินมาเลี้ยงชีพ ส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี ส่งหนี้สินธนาคาร ก็มาจากสิ่งที่รู้ ดังกล่าว !

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรที่ตัดสินใจ “เลิก” ไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมี และลงมือทำอาชีพใหม่ทันที โดยมีพี่เลี้ยงคือเลมอนฟาร์ม และสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน ซึ่งที่จะขอยกตัวอย่าง 2 คนคือ

กฤต อินต๊ะนาม มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดอยู่แถมเขาของต.เมืองจัง อ.ภูเวียง น่าน ทำมาเกือบ 30 ปี เมื่อปี 2559 ญาติ และคนที่ทำข้าวโพดมาด้วยกัน ล้มหายตายไปทีละคนทีละคน เพราะสารเคมีจากการทำข้าวโพดใช้เยอะมากใช้ถึง 5 ครั้ง เมื่อตัดสินใจ “เลิก” พี่เลี้ยงทั้งสองส่งดูงานแปลงเกษตรกรรมอินทรีย์ที่สุพรรณบุรี แล้วกลับมาเปลี่ยนพื้นที่ตัวเอง จนกระทั่งบอกว่า

“ตอนนี้สิ่งที่เราซื้ออย่างเดียวคือหมู เพราะในพื้นที่ ผักอยู่ที่นี่ ปลาก็ไมี ไก่ก็มี ไข่ก็มี สุขภาพดีขึ้น”

พื้นเนินเขาเล็กๆ ด้านหลังลูกชายกฤต เคยปลูกข้าวโพด ส่วนพื้นที่ถัดมาเจ้าของพื้นที่ ใช้สารเคมีอย่างหนักเช่นกัน ใช้เวลา “เปลี่ยน” ความคิด เปลี่ยนดิน บำรุงดิน วันนี้พร้อมส่ง “ฟักทองญี่ปุ่น” อินทรีย์ PGS โดยใช้เฟสบุกเป็นช่องทางสื่อสารตั้งแต่เลิกปลูกข้าวโพด

ปัจจุบัน “ฟักทองญี่ปุ่น” ในแปลงของกฤตเติบโตอยู่ในระบบ PGS เพื่อเตรียมส่งขายที่เลมอน ฟาร์มต่อไป ส่วนหนี้สินที่ยังมีอยู่จากการปลูกข้าวโพดราว 5 แสนบาทกับธกส. ได้รับการเปลี่ยนโครงสร้างหนี้เมื่อลงมือเลิกปลูกข้าวโพด เปลี่ยนพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก

การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ระบบ PGS ที่กฤตได้เรียนรู้มาส่วนหนึ่งมาจาก ศุภลักษณ์ สุวรรณ หรือชื่อเดิมพลับพลึง เจ้าของไร่บ้านไผ่งาม อ.เวียงสา จ.น่าน ได้เริ่มต้นจากการเช่าพื้นที่เล็กๆ ที่ปล่อยรกร้าง จนกระทั่งเข้าสู่ระบบ PGS ถือเป็นความอดทนค่อนข้างมากในการทำเกษตรอินทรีย์

ศุภลักษณ์ เคยทำงานบริษัททำเมล็ดพันธุ์ อยู่กับสารเคมีทุกวัน 24 ชั่วโมง พัก 4 ชั่วโมง ซึ่งงานดังกล่าวสร้างรายได้ให้เธอดีมาก โบนัสปีละ 4 ครั้ง โอทีชั่วโมงละ 150 บาท เงินเดือนต่างหาก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือสุขภาพทั้งของตัวเองและเกือบเสียลูกไป หลังจากตั้งครรภ์แล้วอาเจียนเป็นเลือด แล้ววันหนึ่ง แพทย์ให้เลือกว่า

“ถ้ารักงานให้เอาลูกออก แต่ถ้ารักลูก ให้ออกจากงาน”

อ่านมาถึงตรงนี้ เป็นคุณ คุณเลือกอะไร !?

ศุภลักษณ์ ตั้งครรภ์แล้วอาเจียนเป็นเลือด แพทย์บอกว่า เลือดในตัวเป็นสีดำเกิดจากการรับสารเคมี ซึ่งคนเป็นแม่รับได้สู้ได้ แต่ลูกรับไม่ได้ ดังนั้นต้อง “เลือก”…ทั้งนี้ลูกสาวได้ช่วยงานในไร่ ซึ่งอินทรีย์ PGS จะต้องบันทึกวันปลูกวันเก็บพืชผักแต่ละแปลง

ส่วนศุภลักษณ์เลือก “ลูก” วันนี้ลูกเติบโตเรียนหนังสือ ช่วยงานพ่อแม่ในไร่ไผ่งาม มีรายได้ในพื้นที่เคยบอกราคาไว้ ขายปลีก 1,200 บาท/วัน ขายส่งหน่วยงาน 20,000 บาท/เดือน ส่งเลม่อน ฟาร์มตามมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS 8,000-10,000 บาท/เดือน (ถ้ามีแตงโมรายได้จะมากขึ้น)

สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม กล่าวว่าปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS จำหน่ายใน จ.น่านและจำหน่ายในระบบตลาดของเลมอนฟาร์มแล้ว ได้แก่ ผักสลัดและพืชผักต่างๆ แคนตาลูป เกฟกูสเบอรี่ ข้าวก่ำ ถั่วต่างๆ ลูกเดือย งาขี้ม้อน เป็นต้น

วิถีเกษตรน่านเปลี่ยนได้ด้วย “ใจ” ไม่ต้องรอให้เกิดความ “กลัว”

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

 

You Might Also Like