14 มกราคม 2562…การตระหนักเรื่องความยั่งยืนในสังคมเมืองซึ่งสอดคล้องและเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมาย SDGs #11 เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ
สถาบันคลังสมองของชาติ, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นแม่งานจัด “การสัมมนาวิชาการและการประชุมระดมสมอง ครั้งที่ 3 หรือ SDG11: Partnerships of the Sustainable City in Action @ Seminar Series Round Tables SDGs” ขึ้น เพื่อระดมความคิดและต่อยอดการพัฒนาความยั่งยืนให้บรรลุตามเป้าหมาย และได้เชิญ Mr.Per Österström, Head of Transport & Automotive Industry at Business Region Göteborg, City of Gothenburg, ประเทศสวีเดน มาแบ่งปันประสบการณ์การเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองจาก Hell City เป็น Heaven City อีกด้วย
สวีเดนเป็นประตูสู่ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก หรือกลุ่มประเทศภูมิภาคยุโรปเหนือและแอตแลนติกเหนือ ที่เรามักคุ้นกับชื่อ กลุ่มสแกนดิเนเวีย ซึ่งรวม สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และดินแดนในหมู่เกาะแฟโรกรีนแลนด์ สฟาลบาร์ และโอลันด์ มีประชากรรวม 1.1 ล้านคน 70% ของชาวสแกนดิเนเวียนและแหล่งอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันในระยะไม่เกิน 500 กิโลเมตร 30% ของการค้าต่างประเทศสวีเดนดำเนินการผ่านท่าเรือ Gothenburg นั่นหมายถืงจำนวนตู้สินค้า 60% ของประเทศเลยทีเดียว กลุ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์มีจำนวนมากถึง 3,700 ราย พร้อมแรงงานจำนวนกว่า 31,000 คน
ธุรกิจยานยนต์ของกลุ่มสแกนดิเนเวียนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำตลาดโลกด้านความปลอดภัย ระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ และเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม เช่น OEMs วอลโว่ และกลุ่ม วอลโว่ (Volvo Group Greely / GEVT and NEVS) รวมไปถึงงานวิจัยและพัฒนาห่วงโซ่ธุรกิจมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ความร่วมมือในภาคธุรกิจและเอกชน ภาคการศึกษา และโครงการวิจัยหลัก ๆ ระดับชาติมากมาย
สัดส่วนการลงทุนในภาคพื้น Gothenburg ด้านการวิจัยและพัฒนาของสวีเดนสำหรับกลุ่มธุรกิจภาคเอกชนแบ่งหลัก ๆ เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ธุรกิจยานยนต์ 61% เภสัชศาสตร์ 42% และธุรกิจบริการ 27% — มีธุรกิจเกิดใหม่ขึ้นอีกจำนวนมากตั้งแต่ปี 2000-2017 กว่า 46,000 ธุรกิจ สร้างงานแบบก้าวกระโดดกว่า 134,000 งานในช่วงปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่ดรรชนีแนวโน้มทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมของ Gothenburg พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงจำนวนผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลักล้านคนเช่นกัน
Gothenburg จัดสัดส่วนประสานประโยชน์ระหว่างภาคเอกชน สาธารณะ และการศึกษาออกเป็น 3 Science Parks หลัก คือ (1) Lindholmen Science Park จัดการเรื่องเครือข่ายระบบโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน เครื่องยนต์อัจฉริยะ การออกแบบ และสื่อที่ทันสมัย (2) Johanneberg Science Park จัดการเรื่องอาคารชาญฉลาด (Smart Building) การพัฒนาเมือง พลังงาน และวัตถุดิบด้านวิทยาศาสตร์ และ (3) Sahigrenska Science Park จัดการด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ – กิจกรรม 3 หลักนี้เริ่มขึ้นด้วยการเปลี่ยนอู่ต่อเรือให้กลายเป็นศูนย์รวมการประสานประโยชน์และความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ โดยเน้นไปที่อาคารและโครงการของกลุ่มธุรกิจ ซึ่งในเขตนี้มีจำนวนคนทำงานถึง 13,000 คน นักศึกษา 9,000 คน ผู้อยู่อาศัย 1,000 ครัวเรือน 350 องค์กร 2 มหาวิทยาลัย 6 โรงเรียน 30 ภัตตาคาร และ 265 โรงแรม โดยในเมืองนี้มี 2 มหาวิทยาลัยคือ Chalmers University of Technology และ University of Gothenburg ที่ประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาเมืองมหาวิทยาลัยที่มี Science Park และมีที่เติมแบตเตอร์รี่รถเมล์ไฟฟ้า คือ Chalmers UOT
ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ Gothenburg ใช้เป็นแกนนำในเรื่องนี้ เน้นไปที่ (1) ความเป็นผู้นำด้านการเมือง (2) การประสานประโยชน์และความร่วมมือในแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องการลงทุนและทำการค้าในสวีเดน และกลุ่ม Start Up โดยผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนและโอกาสในการสร้างงานที่หลากหลาย (3) การวางแผน เป้าประสงค์ และกลยุทธ์ด้านการเงิน (4) การใช้เมืองเป็นฐานทดลองศึกษาต้นแบบ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทุกเรื่อง คือ (5) เรื่องความต้องการพื้นฐานด้านสังคมสภาพแวดล้อม Gothenburg มีนวัตกรรมในการจัดสัดส่วนระดับภาคพื้น โดยมุ่งไปยังการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ (Cluster) ด้วยการประสานประโยชน์และความร่วมมือคิดรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ให้แต่ละกลุ่มจับมือกันทำงานในแต่ละโครงการ โดยปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นของแต่ละภาคอุตสาหกรรม — ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ครอบคลุม ทำได้อย่างสอดคล้อง ลงตัว และมีประสิทธิภาพ จนทำให้เขต Gothenburg เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมท่ามกลาง 220 เขตในยุโรป และทำให้ สวีเดน เป็นหนึ่งใน 157 ประเทศที่บรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ UN (UN’s Sustainable Development Goals)
นอกจากนี้ หลังจากสวีเดนใช้เวลาถึง 31 ปีในการปรับเปลี่ยนเมืองทั้งเมือง จาก Hell City เป็น Heaven City ได้อย่างน่าอัศจรรย์มาก สวีเดน ยังเล็งเห็นความสำคัญและนำแนวคิดเรื่องเป้าหมายสู่ความยั่งยืนของสังคมเมืองมาสร้างสรรค์เป็นโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ … หนึ่งในโครงการชิ้นโบว์แดงที่ได้ชื่อว่าเป็น World 1st Green Bonds Initiative, Sustainable Mobility Solution คือ โครงการ Green Goteborg 2018 ซึ่งสามารถลดมลภาวะทางอากาศ และลดปริมาณความร้อนของชุมชนเมืองที่เกิดจากการใช้รถและยานพาหนะได้อย่างเหลือเชื่อ โดยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 50% ลดปริมาณโมโนไนโตรเจนออกไซด์ลง 90% และลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกไปถึง 100% …ด้วยการเปลี่ยนเมือง ปรับโฉม นำเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนดีเซลและก๊าซ มีการปรับผังเมือง พัฒนาระบบการจัดการขยะและของเสียด้วยรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำขยะกลับมาใช้ในรูปพลังงานไฟฟ้าเพื่ออุปโภคและเพื่อที่อยู่อาศัย การพัฒนาบริการรถโดยสารสาธารณะระบบไฟฟ้าสำหรับคนเมือง การวิจัยและพัฒนารถและยานพาหนะเป็นระบบ Hybrid และ Bio Technology ยานพาหนะขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ การใช้เคเบิ้ลคาร์รับส่งประชาชนข้ามฝั่งแม่น้ำได้จำนวนมากถึง 2,000 คนต่อวันต่อเที่ยวในระยะทาง 3 กิโลเมตร และ เป้าหมายต่อไปคือ การลดมลพิษ Greenhouse Gas Emissions ลง 80% หรือลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลง 2 ตันต่อคนต่อปี ภายในปี 2050
การเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้เป็น Eco City / Smart City เกิดจากการประสานประโยชน์และความร่วมมือของหุ้นส่วนสีเขียวเพื่อความยั่งยืน 15 องค์กร รวมทั้งสายธุรกิจยานยนต์หลัก ๆ ภาครัฐ และภาคการศึกษา ด้วยหลักการ Sustainable City – Sustainable Partnership อย่างแท้จริง เห็นผลความสำเร็จของการก้าวสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน และเป็น Sustainable Urban Development อย่างเป็นรูปธรรมในทุกวันนี้
อีกโครงการเล็ก ๆ แต่ไม่เล็กที่น่าทึ่งในนวัตกรรมแบบ Smart City คือ ห้องสมุดที่สถานีรถประจำทางบนถนน Route 55 .. เหมาะสมอย่างยิ่งแล้วสำหรับ สวีเดน ที่ได้รับการจัดลำดับให้เป็น Sweden – #1 in Innovative in Europe .. ปรบมือรัวค่ะ..
ที่มาภาพ…
- สถาบันคลังสมองของชาติ
- Mr.Per Österström, Head of Transport & Automotive Industry at Business Region Göteborg, City of Gothenburg, ประเทศสวีเดน จากงาน “การสัมมนาวิชาการและการประชุมระดมสมอง ครั้งที่ 3 หรือ SDG11: Partnerships of the Sustainable City in Action @ Seminar Series Round Tables SDGs”
SDG11: Partnerships of the Sustainable City in Action
By Orapan Bunchasansiri
อรพรรณ บัญชเสนศิริ ที่ปรึกษาอาวุโสและอาจารย์พิเศษงานสื่อสารองค์กรและงานสื่อสารการตลาด บริษัท สเฟียร์ คอมม์ จำกัด
คอลัมน์ Learning Life-Long-Learning เซคชั่น Partnerships