18 เมษายน 2562…รับมือด้วยการผลิตบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ เช่น Bioplastic มีสัดส่วนมากขึ้น ลดสัดผลิตพลาสติกที่ยากต่อการนำมา Recycle หลอดดูดจากสาหร่ายทะเลหรือจากข้าว ช้อนกินได้จากแป้งสาลี
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เห็นว่า หลังเกิด(ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use) เป็นเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกทั้ง 7 ชนิด พลาสติก LLDPE จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากถูกนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติก และฟิล์มสำหรับบรรจุภัณฑ์กว่า 55% ของการนำ LLDPE ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด
รูปที่ 1: พลาสติกที่นำไปใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ผลกระทบจากนโยบายของไทย และข้อจำกัดในการrecycle
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและ PTTGC
LLDPE ยังเก็บเข้าสู่ระบบจัดการขยะยาก เพราะ LLDPE เป็นพลาสติกประเภทฟิล์มที่มีความอ่อนตัว เป็นอุปสรรคต่อการกำจัดเนื่องจากพลาสติกอ่อนนี้ติดอยู่ในล้อและเกียร์ ซึ่งสามารถทำลายเครื่องจักรสำหรับคัดแยกขวดกระป๋องและกระดาษในโรงงานแยกขยะ อีกทั้งยังยากต่อการนำกลับมาผลิตใหม่ เนื่องจากการนำไปใช้ครั้งแรกจะมีการพิมพ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์และโลโก้บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจากนโยบายลดและยกเลิกการใช้พลาสติกของไทย รวมถึงของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน และออสเตรเลีย คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลาสติก LLDPE มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงจากที่เคยเติบโตราว 5% ต่อปี ระหว่างปี 2010-2017 เหลือเพียง 1% ต่อปี
รูปที่ 2: ความต้องการ LLDPE ของโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทรนด์การใช้พลาสติกเปลี่ยนไป
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Wood Mackenzie และ ICIS
นอกจากนี้ ต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากต้องหาวัตถุดิบชนิดใหม่มาใช้ทดแทนพลาสติกของเดิมที่ถูกยกเลิกไป โดยจำเป็นต้องใช้งานได้เทียบเคียงวัสดุเดิมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการผลิตหลอดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เองจะสูงกว่าต้นทุนหลอดพลาสติกแบบดั้งเดิมอยู่ราว 1 เท่า
ไม่เพียงต้นทุนวัตถุดิบ ผู้ผลิตอาจต้องลงทุนในด้าน R&D เพื่อพัฒนาวัสดุที่เหมาะกับการใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการจะผลิตเอง อีกทั้งอาจต้องลงทุนในด้านการสื่อสารทางการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงคุณสมบัติโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การห้ามใช้ Single-use Plastic สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สามารถรีไซเคิลพลาสติกประเภท PET เพราะเป็นพลาสติกประเภทนำมาผลิตใหม่ได้ (Re-material) เช่น พลาสติกประเภท PET ที่นำไปผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติก สามารถนำไปผ่านกระบวนการ Depolymerization เพื่อให้แตกตัวเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือ Monomer ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็น Polymer เพื่อสร้างเป็นพลาสติกใหม่ได้ หรือที่เรียกกระบวนการนี้ว่า Repolymerization
กระบวนการดังกล่าว จะทำให้ขวดน้ำพลาสติกถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกเป็น 100 ครั้ง การเก็บพลาสติกชนิดดังกล่าวกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือการนำมาใช้ซ้ำ จึงสร้างโอกาสให้ทั้งผู้ผลิตพลาสติก PET รวมถึงธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก PET
อีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Bioplastic และเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก
ปัจจุบันมีพลาสติกเพียงประเภทเดียวที่สามารถนำกลับมา re-material ใหม่ได้ คือ PET ส่วนพลาสติกประเภทอื่นยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดีเท่า PET ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมีย่อมได้รับผลกระทบจากเทรนด์และมาตรการยกเลิกการใช้พลาสติก
นับเป็นความท้าทายที่จะต้องหาวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น Bioplastic ที่ทำมาจากอ้อย และมันสำปะหลัง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น 1 เท่าเป็นอย่างน้อยจากการเปลี่ยนไปผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจส่งผ่านไปยังผู้ซื้อได้บ้าง เช่น ผู้ซื้อในกลุ่มร้านอาหารที่ใช้หลอด กล่องใส่อาหารพลาสติก หรือร้านค้าปลีกที่ใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะต้องรับมือกับราคาของบรรจุภัณฑ์จากวัสดุใหม่ที่สูงขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตแบบ non-plastic เช่น กระดาษ ข้าว สามารถ หาช่องทางในการเจาะเข้าสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารได้ เช่น ถุงกระดาษใส่น้ำตาล หลอดที่ทำจากข้าวหรือกระดาษ เป็นต้น
โดย : ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล (Nattanan.apinunwattanakul@scb.co.th)
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)