BIODIVERSITY & REGENERATIVE

2 โค้ช อุทิศแรง&เวลา ลับแข้งให้ลูกศิษย์สู่ฝันนักฟุตบอลทีมชาติ

13 มิถุนายน 2562… “โค้ชเตี้ยจุฬา” และ “โค้ชหญิงบุเปือย” คือบุคคลที่ได้รับรางวัล SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมกีฬา ปีที่ 12 คัดเลือกโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย


Partnerships

บทบาทหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำงานกับ 7 องค์กรเพื่อสังคม สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย มูลนิธิดวงประทีป และมูลนิธิวิมุตตยาลัย คัดเลือกผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่อเกื้อกูลประโยชน์ต่อสังคมในแต่ละองค์กร เพื่อรับรางวัล และเงินอุดหนุนองค์กรเพื่อการทำงานจากมูลนิธิตลท. ในโครงการ  “SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม Partnership for the Betterment” ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

“ผู้ทำความดีเพื่อสังคม ทั้ง 7 สาขา ถูกคัดเลือกโดยพาร์ทเนอร์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานด้วยตลอด 12 ปี เพราะองค์กรต่างๆ เหล่านี้ เป็นคนรู้ดีที่สุดว่าใครเป็นเพชรที่ซ่อนอยู่ข้างใน ที่ไม่มีใครมาสนใจมาดูแล แต่คือตัวจริงเรื่องนั้นๆ ในแต่ละสาขา ที่จะเสียสละนำความรู้มาพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ ด้วยทุนทรัพย์ตัวเอง Initiate บางโปรเจคขึ้นมา คือเป็นชีวิตไม่ต้องมีใครมาสั่ง แต่รู้ว่าต้องการทำความดี”

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล่าถึงแนวทางการทำงานโครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แบบในการทำงานให้กับสังคมของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอีกรูปแบบหนึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำด้วยตัวเอง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ มูลนิธิทำเพื่อให้องค์กรเข้มแข็ง เพื่อให้บุคลากรที่มีคุณค่า

“เป้าหมายเชิดชูต่อไป ต้องมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะเรานึกถึงความยั่งยืน เราจะเปิดกว้างมากขึ้น อาจจะไม่ใช่เพียง 7 สาขา เรากำลังคิดอยู่ว่าจะเปิดกว้างและมีหลากหลายองค์กรยื่นเข้ามาและเราจะเป็นรางวัลตรงกลาง แต่ต้องเสนอบอร์ด ซึ่งจะได้มากกว่า 7 สาขาตามสิ่งที่เปลี่ยนไปในสังคม เช่นสิ่งแวดล้อมอาจจะเสนอคนเข้ามาซึ่งเราต้องดู เมื่อปีที่แล้วมีรางวัลของอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว ส่งเสริมคนดีรุ่นใหม่ๆ ก็มีอยู่ โดยไม่ได้เข้ามาในงานรายปีแบบนี้”

อาจกล่าวได้ว่า ความเข้มแข็งของ “SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม Partnership for the Betterment” เป็นรางวัลยืน 1 การให้ความดีในประเทศไทย เพราะยังไม่เห็นการมอบรางวัลด้วยกระบวนการทำงานเช่นนี้ ไม่ผิดนักหากจะต้องให้เครดิตผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้เกิดรางวัลนี้ และยังรักษามาตรฐานรางวัลอย่างต่อเนื่องมาถึง 12 ปี

“ในฐานะที่เป็นคนสานต่อ ต้องมองทั้งแนวลึกแนวกว้าง เพราะตรงนี้คือแบรนด์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมองยาวๆ10-20 ปี”

นพเก้ากล่าวก่อนที่เริ่มงานมอบรางวัล “SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม Partnership for the Betterment” สาขาการส่งเสริมกีฬา ปี 2561 ซึ่งถือเป็นปีที่ 12

ยิ่งกว่าแข้งทอง

สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย คัดเลือกผู้รับรางวัลผู้ทำความดีเพื่อสังคมสาขาการส่งเสริมกีฬา 2 คน คือสมพงษ์ แก้วหยก “โค้ชเตี้ยจุฬา” สอนฟุตบอลและฟุตซอลให้เยาวชนชุมชนคลองเตยรวมนักเรียนวัดปทุมคงคา ส่วนครูธิดารัตน์ วิวาสุข “โค้ชหญิงบุเปือย” เป็นข้าราชการครูอยู่ที่โรงเรียนชุมชน         บ้านบุเปือย อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นสุภาพสตรีคนแรกของรางวัลนี้

“โค้ชหญิงบุเปือย”หรือ “ครูมิ่ม” ธิดารัตน์ วิวาสุข ครูชำนาญการ อดีตนักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย มีผลงานเหรียญทองระดับ SEA Games เลิกเล่นทีมชาติมาเป็นครูที่โรงเรียนชุมชนบ้านบุเปือย เมื่อปี 2554 พร้อมบุกเบิกกีฬาฟุตบอลเพื่อให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติดและเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพ สามารถพาทีมโรงเรียนที่ไม่มีใครรู้จักชนะเลิศหลายรายการทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ

ในยุคก่อนปี 2554 การเป็นนักฟุตบอลหญิงทีมชาติก็มีความท้าทายไม่น้อย แต่เมื่อมองอนาคตในช่วงที่อายุมากขึ้น ไม่ได้เป็นนักกีฬาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต เพราะขณะนั้นฟุตบอลหญิงในประเทศไทยก็ไม่ได้เฟืองฟูนัก จุดเปลี่ยนชีวิตก็เกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจสอบเป็นข้าราชการครูได้ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานีเขต 5 คือที่นี่ แม้ว่าจะเป็นคนศรีสะเกษ แต่โรงเรียนชุมชนบ้านบุเปือยก็ไม่ได้ห่างจากบ้านมากนัก

โค้ชมิ่มใช้เวลาพักใหญ่กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนจะเข้าใจว่า ทำไมโรงเรียนเลิกเรียนแล้ว ลูกจะต้องอยู่ซ้อมฟุตบอลแทนที่จะไปช่วยทำงานหารายได้เข้าบ้าน แต่เด็กๆ ก็ชอบที่จะซ้อมฟุตบอล จนกระทั่ง Fox Hunt ของคิงส์ พาวเวอร์ มาคัดนักฟุตบอลตามที่ต่างๆ เพื่อเป็น Fox Hunt รุ่น 1 ไปเลสเตอร์ ซิตี้ อะคาเดมี่ อังกฤษ 2 ปี 6 เดือน และนักฟุตบอลของโรงเรียนซึ่งเป็นเด็กม.3ติดไป 2 คน

เท่านั้นแหละ ผู้ปกครองเข้าใจ หากลูกจะซ้อมฟุตบอล แถมเวลาผ่านไปครบกำหนด นักเรียนที่นี่กลายเป็นนักฟุตบอลของสโมสรในไทยหลายคน ขณะที่โค้ชมิ่มก็นำทีมโรงเรียนเข้าแข่งขันฟุตบอลอุบลฯแชมเปี้ยนลีก จัดโดย อบจ.อุบลฯ โดยในปีที่ 2 ของโรงเรียนที่เข้าแข่งขัน ได้ 2 แชมป์ทั้งรุ่นอายุ 12 และ 16 ปี เราได้เงิน 1 แสนบาท

“เวลานั้นพ่อแม่อยากส่งลูกมาเรียนฟุตบอลมากขึ้น ก็เลยเอาเงินมาสร้างบ้านพักนักกีฬาในโรงเรียนหมดเลย มีเด็กมาอยู่ 30 คน ต้องใช้ทักษะชีวิตเรียนรู้ทำกับข้าวเอง 1 สัปดาห์ต้องได้ทำกับข้าว 1 วัน ล้างจานเองซักผ้าเอง ต้องเรียนหนังสือทุกวัน ต้องไม่ติด 0 ติด ร.พ่อแม่ต้องรับเงื่อนไขนี้ได้หากให้ลูกมาอยู่ในบ้านพัก ส่วนครูจะอยู่บ้านพักข้างๆ เรือนพักนี้ หลังจากมีบ้านพักนักกีฬา ตัวเองจนลงเลย ต้องกู้ทุกบาทเลย ที่บ้านก็ไม่ได้ว่า เพราะเราก็โสดไม่มีภาระ ที่บ้านพี่น้องๆ เรียนจบมีงานทำ แล้วเวลาเสาร์อาทิตย์พ่อแม่คิดถึงก็มาหาที่นี่”

วันนี้โค้ชมิ่ม ทำหน้าที่สอนฟุตบอลให้เด็กๆ ตามความฝันหากมีฝีเท้าดีจะมีโอกาส ส่งต่อเพื่อนๆ ในสโมสรใหญ่ๆ ซึ่งรู้จักกันจากการเคยเรียนโค้ชร่วมกัน

โค้ชเตี้ยจุฬา” สมพงษ์ แก้วหยก ได้ทุ่มเทอุทิศตนทั้งชีวิตกว่า 40 ปีให้กับกีฬาฟุตบอล ตระเวนฝึกสอนฟุตบอลให้เยาวชนย่านปทุมวัน และชุมชนแออัดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผลักดันจนเกิดอะคาเดมีใต้ทางด่วน ทำให้เยาวชนหลายคนมีอนาคตที่ดีขึ้น และก้าวไปถึงทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตซอลที่โรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กรุงเทพฯ

“ผมไม่มีครอบครัว เป็นอาสาสมัครมาแล้ว 50 ปี ตอนที่เริ่มคิดสอนเพราะเป็นคนชอบกีฬา ก็ตระเวนหาเด็กแถวชุมชนมาแข่งมาเล่นมาซ้อมแล้วเดินสายเตะบอล เมื่อก่อนเป็นสนามหญ้าใหญ่ ต้องใช้คนเอยะ 20-30 คน ตอนนี้เลยมาเป็นฟุตซอลเริ่มสอนปี 2557 ถึงตอนนี้เป็นฟุตซอลอย่างเดียว การสอนของผมสอยจากประสบการณ์ล้วนๆ ไม่มีทฤษฎีมาเลยเพราะตัวเองก็จบป. 4 แล้วเด็กเชื่อผมเพราะเด็กก็รักผมด้วย ผมไม่เก็บตังค์พ่อแม่เด็กไม่ต้องเสียงตังค์ ผมก็สอนเขาถึงทุกวันนี้ และไปไหนผมก็พาเขาไป เวลาที่ไหนมีคัดตัว ผมก็พาเขาไปคัดเลือกตัวตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นทุนของผมเองทั้งหมด ไม่เคยเอาจากเด็ก บางทีเด็กเองก็เอาของมากินด้วย”

โค้ชเตี้ยเล่าต่อเนื่องถึงที่มาของเงิน เมื่อก่อนทำงานเก็บบอล ซึ่งมีเตะบอลทุกอาทิตย์ก็มีเงินเก็บสะสมไว้ เสาร์อาทิตย์ก็พาเด็กไปแข่ง ผู้ปกครองช่วยออกนิดหน่อย อย่างมางานรับรางวัล ผู้ปกครองขับรถจากกรุงเทพฯ พามาถึงที่นี่

“เด็กที่สอนอยู่ตอนนี้เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดปทุมวนาราม และเด็กที่มาจากชุมชนแออัด เวลาสอนก็เหมือนกัน มารวมกันได้ เป็นเพื่อนกัน ก็จะบอกว่าหนูจะเล่นตรงนี้ต้องซ้อมรวมกันนะ ปัจจุบันเด็กที่สอนอยู่ 30 คน”

นพเก้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การคัดเลือกผู้รับรางวัลสาขานี้ จะต้องเป็นโค้ชฟุตบอลอย่างน้อย 10 ปี อีกทั้งเมื่อเป็นครู จะต้องมีการสกรีน จากสพฐ.ด้วย กว่าจะได้รางวัล ….ไม่ธรรมดา !!

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมพิธีมอบทุนสนับสนุนเพื่อจัดกิจกรรมและโครงการด้านส่งเสริมกีฬาฟุตบอลแก่เยาวชน ให้แก่สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย 1 ใน 7 องค์กรพันธมิตร ภายใต้โครงการ “SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม” เป็นปีที่ 12 จำนวน 2 ล้านบาท โดยมี ดร. วิชิต แย้มบุญเรือง นายกสมาคมประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย เป็นตัวแทนรับมอบ

 

 

You Might Also Like