BIODIVERSITY & REGENERATIVE

มุมมองนักแสดง คิด&ลงมือทำจริง ออกแบบทางออกให้น้ำ ทะเล ป่า ขยะ

24 กรกฎาคม 2562…ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี ,อเล็กซ์ เรนเดลล์ ,ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร 3 ชื่อนี้คนที่ตามเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้รู้สึกว่าเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ให้องค์กรใด เพราะงานที่ทำอยู่เกิดจาก Mindset รักษ์โลกเช่นเดียวกับองค์กรใหญ่

ในงาน SET Social Impact Day 2019 บนเวทีหัวข้อ “ออกแบบทางออกให้น้ำ ทะเล ป่า ขยะ” นักแสดงทั้งสาม รวมถึงผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านสิ่งแวดล้อม

เนวิเกเตอร์คนดัง เจษฎาภรณ์ ผลดี เล่าว่า ในความเป็นจริงไม่มีการอนุรักษ์แบบ 100% แต่ทำอย่างไรให้ธรรมชาติอยู่กับเราได้นานที่สุด วันนี้ขอทำหน้าที่พูดแทนสิ่งที่พูดไม่ได้ นั่นคือธรรมชาติ ผืนป่าปัจจุบันเหลือ 31% และไม่เชื่อมต่อ ทำให้จำกัดการอยู่อาศัยของสัตว์ เกิดการสืบต่อยีนด้อย

“จะทำอย่างไรให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ นั่นเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกันหาทางออก ทางออกหนึ่งคือการบริหารองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้คนเข้าถึงธรรมชาติ และพร้อมที่จะปกป้องธรรมชาติ”

ด้าน บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ให้มุมมองว่า ในขณะที่เราต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในวันนี้ พร้อมๆ กันก็ต้องหาทางออกสำหรับอนาคตด้วย เราให้ความรู้ต่อผู้ใช้น้ำ ยึดหลัก 3R-Reduce Reuse Recycle สร้างพฤติกรรมการบริโภคที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC มุ่งมั่นและทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ได้แก่ โครงการ Upcycling the Oceans Thailand เริ่มจากที่ได้คุยกับมูลนิธิที่ทำงานร่วมกับชาวประมงสเปน พวกเขาจับปลาและจับขยะขึ้นมาด้วย เราจึงคิดต่อให้ตอบโจทย์ในมุมสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งการท่องเที่ยวฯ นักประดาน้ำ นักอนุรักษ์ และชุมชน ที่ช่วยนำขยะจากท้องทะเลมาแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น ใช้เวลา 4-5 ปี กว่าจะได้เสื้อตัวแรกที่แปรรูปจากขยะใต้ท้องมหาสมุทร

ปัจจุบัน GC เข้าสู่ Circular Living อย่างเต็มตัว พร้อมสานพลังกับ กลุ่มปตท. เดินหน้า Circular Living เช่นกัน

อเล็กซ์ เรนเดลล์ ศิลปินผู้ก่อตั้ง EEC Thailand ในฐานะคนรุ่นใหม่และผู้เผชิญสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เล่าว่า EEC เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือเยาวชน มีโมเดลของการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยหัวใจไปบนเส้นทางของความยั่งยืน

“แนวทางการอนุรักษ์เป็นหนึ่งเดียวกับแนวทางการใช้ชีวิต ที่เราหวังว่าพวกเขาจะเป็นผู้นำเรื่องสิ่งแวดล้อมรุ่นต่อไป”

พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ศิลปินนักออกแบบความยั่งยืน เล่าว่า ก่อนจะออกแบบทางออกก็ออกแบบทางเข้าให้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมจำนวนมากก่อน นวัตกรรมคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตง่าย

“การออกแบบทางออกที่จำเป็น อาจต้องคำนึงถึงการออกแบบชีวิตให้ง่าย ซึ่งจะทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น”

ชนินทร์ ศรีสุมะ ผู้ร่วมก่อตั้ง รีฟิล สเตชั่น ธุรกิจเพื่อสังคมลดขยะให้โลก เล่าถึงรีฟิลชอปที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการแก้ปัญหาขยะ ได้ของที่ราคาถูกลงและได้ช่วยโลก แต่อุปสรรคคือความไม่คุ้นเคยของผู้บริโภค รีฟิลแก้ปัญหาโดยการตั้งร้านที่เป็นคอมมูนิตี้คนรักสิ่งแวดล้อม คอมมูนิตี้ที่อยากแก้ปัญหาในชุมชนของตัวเอง พลิกจากล้มเหลวสู่ความสำเร็จ ปัจจุบันกระจายร้านไปในหลายจังหวัด

เครดิต

#SETSocialImpactDay2019

 

 

You Might Also Like