19 มีนาคม 2562…ประเด็นท้าทายที่ทุกฝ่ายยังคงต้องจับตามองในปีนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกในหลากหลายมิติ
เทรนด์ 1: ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้าง ความวิตกกังวลให้กับภาครัฐและประชาคมโลก จากรายงาน The Global Risks Report 2019 ของ World Economic Forum ระบุว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา Climate Change เป็นหนึ่งในความเสี่ยง สำคัญที่อยู่ใน 5 ลำดับแรกทั้งในเชิงของผลกระทบ (Impact) และโอกาสที่จะเกิด (Likelihood)
ความล้มเหลวในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประชาคมโลกอาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียส ภายในปลายศตวรรษนี้ ซึ่งระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทั่วโลก เช่น การสูญเสียความหลากหลาย ทางชีวภาพในพื้นที่ป่าและมหาสมุทร ตลอดจนระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอาจมีผลต่อที่อยู่อาศัย การเข้าถึง แหล่งน้ำสะอาด และความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั่วโลก
ในปี 2017 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่มีผลมาจาก Climate Change ได้สร้างความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารของประชากรกว่า 39 ล้านคน ใน 23 ประเทศ
เพื่อตอบสนองต่อความรุนแรงของปัญหา Climate Change ภาครัฐและองค์กรระดับโลกจึงร่วมกัน ผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ระบบขนส่ง ผลิตไฟฟ้า และการก่อสร้าง) ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเอื้อต่อการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวเพื่อให้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตลอดทั้งกระบวนการ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการเปิดเผยข้อมูล ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ จากแรงผลักดันต่างๆ ข้างต้น
ภาคธุรกิจจึงต้องตระหนักถึงทิศทางในการผลักดันไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จากภาครัฐและองค์กรในระดับโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนี้
- ประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของปัญหา Climate Change อย่างรอบด้าน โดยพิจารณาว่าผลกระทบจาก Climate Change เช่น สภาพที่ตั้งหรือพื้นที่ที่มีการดำเนินกิจกรรมทาง ธุรกิจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นหรือไม่ บริษัทอาจมีค่าใช้จ่าย ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป้าหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เป้าหมายการลดการใช้พลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการกำหนดเป้าหมาย ที่ชัดเจนจะทำให้บริษัทสามารถกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น
- ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการ ธุรกิจควรเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในกระบวนการมากขึ้น เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม
- กำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) การกำหนดราคาคาร์บอน คือ การกำหนดมูลค่าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวเงิน (Monetary Value) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือ สำคัญในการช่วยให้ธุรกิจสามารถประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ช่วยในการตัดสินใจ ลงทุน และวางแผนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างเหมาะสม
- เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมไปถึง การลงทุนในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องการเปิดเผยข้อมูล การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งแนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับเม็ดเงินลงทุน และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย
เทรนด์ 2: พฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการ “ใช้งาน” แต่ไม่เน้น “ครอบครอง”
เทคโนโลยีดิจิทัล และ Internet of Things (IoT) รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคน ในสังคมทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันไปใช้วิธีการเข้าถึงสินค้าและบริการในรูปแบบ “การเช่า” และ “การจ่ายเมื่อใช้งาน” (Pay-Per-Use) มากขึ้นแทนการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าบริการนั้นมาครอบครอง
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็น Netflix บริการสตรีมมิงที่ผู้บริโภคสามารถใช้รับชมภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ต่างๆ กลายเป็น ช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าการซื้อแผ่นซีดีหรือดีวีดี หรือสตาร์ทอัพที่ให้บริการเช่าจักรยานเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศจีน สะท้อนถึงความนิยมในการเข้าถึงสินค้า และบริการด้วยรูปแบบการเช่าได้เป็นอย่างดี
โมเดลธุรกิจดังกล่าว เป็นหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ช่วยตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด และนำมาสู่การปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ (อ่านเพิ่มเติม เรื่อง Circular Economy) ซึ่งรูปแบบธุรกิจการเช่าหรือการจ่ายเมื่อใช้งานนี้ช่วยลดภาระผู้ซื้อ ในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ ช่วยลดการซื้อที่ไม่จำเป็น และทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุด ปัจจุบันจึงเริ่มมีผู้ผลิตที่พัฒนาโมเดลธุรกิจนี้เพิ่มเติมขึ้นจากธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการตามปกติเพื่อ ตอบโจทย์พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
เทรนด์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในการเข้าถึง ผู้บริโภคและสร้างตลาดใหม่ๆ ซึ่งผู้ผลิต ต้องจับตามองและนำมาทบทวนว่าสินค้าและบริการของตนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ และ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจำหน่าย และการบริการให้ตอบสนองพฤติกรรมของ ผู้บริโภคได้อย่างไรบ้าง
เทรนด์ 3: การพัฒนาศักยภาพ ของมนุษย์ให้สอดรับ กับเทคโนโลยี และ ความต้องการในอนาคต
การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีต่างๆ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ในระบบการผลิต ขณะเดียวกันก็เริ่มสร้างความกังวลต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานทั่วโลก ซึ่งจากผล การสำรวจในรายงาน The Future of Job Report 2018 ของ World Economic Forum ระบุว่าภายใน ปี 2022 กว่า 75% ของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มจะนำเทคโนโลยี เช่น Big data Analytics, Web-enabled market, Internet of Things (IoT), Cloud computing มาใช้ในกระบวนการธุรกิจ เพิ่มมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการ ขณะเดียวกัน แนวโน้มดังกล่าวได้ทำให้เกิดข้อกังวลถึงการเลิกจ้างและการว่างงานปริมาณมหาศาลในกิจกรรมที่สามารถ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้
แม้จะมีตำแหน่งงานและกิจกรรมที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคลากร ที่มีทักษะในกลุ่มงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนานวัตกรรม การออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน จะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ (Human Skill) เช่น การให้บริการ ความคิดสร้างสรรรค์ (Creative Thinking) ภาวะผู้นำ (Leadership) มีแนวโน้มที่ยัง คงเป็นที่ต้องการต่อไป
การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะให้แก่ทรัพยากรบุคคลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อบุคลากรเองและต่อองค์กร พนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะที่สอดรับกับความต้องการในอนาคตจะมีโอกาส ในการก้าวสู่ตำแหน่งงานที่ได้ใช้ทักษะสูงขึ้นและได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่องค์กรก็สามารถสร้าง บุคลากรให้เพียงพอที่จะรองรับการปรับตัวทางธุรกิจและลดความเสี่ยงการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะตามที่ บริษัทต้องการ
ทั้งนี้ องค์กรต้องเริ่มประเมินว่าทักษะประเภทใดที่มีความจำเป็นต่อการเติบโตขององค์กร ปัจจุบัน พนักงานขององค์กรมีทักษะตามที่องค์กรต้องการแล้วหรือไม่ เพื่อให้สามารถวางแผนการพัฒนาศักยภาพ ของบุคลากรได้อย่างเหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกันองค์กรต้องพิจารณาด้วยว่ากิจกรรม ทางธุรกิจใดที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรและจะส่งผลกระทบต่อบุคลากรในตำแหน่งใดบ้าง บริษัทควรวางแผนในการโยกย้ายบุคลากรควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะในสายงานใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อม ให้พนักงานสามารถปรับเปลี่ยน Career Path และมีโอกาสเติบโตในสายงานอื่น
ภาคธุรกิจจำเป็นต้องตระหนักถึงเทรนด์ด้านความยั่งยืนเหล่านี้ และปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงาน เพื่อให้ตอบสนองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อ ‘ลดความเสี่ยง’ และ ‘เพิ่มโอกาส’ ให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน
โดย พัทธ์ธีรา วงศราวิทย์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.weforum.org/reports/the-global-risks-report-2019
https://www.weforum.org/reports/the-future-of-jobs-report-2018
https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-work/retraining-and-reskilling-workers-in-the-age-of-automation
https://www.forbes.com/sites/stephaniedenning/2018/12/27/2019-business-trends-executives-need-to-consider/#10a7f6ab229e
https://www.ceguide.org/Strategies-and-examples/Sell/Digitization-and-virtualization
http://www.businessendofclimate.org/
https://www.c2es.org/content/internal-carbon-pricing/
https://www.sustainablebusinesstoolkit.com/why-disclose-carbon-emissions-information/