CIRCULAR ECONOMY

เอสซีจี

Circular Economyแบบ One Village One Productญี่ปุ่น… ชุมชนไทยก็ทำได้!

ในงาน  SD Symposium 2018 ระดับชุมชนก็สามารถใช้ทรัพยากรในการสร้างรายได้อย่างรู้คุณค่า โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดเป็นสินค้าหรือบริการที่สอดแทรกนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และยึดการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ

พลิกฟื้นชนบทด้วยภูมิปัญญา ยึดหลักพอเพียงนำพารายได้ให้ชุมชน

 

ทาดาชิ อูชิดะ ประธานโครงการ OVOP(Mr.Tadashi Uchida, President of International OVOP Exchange Committee)เล่าถึงภูมิหลังของOVOP ซึ่งเริ่มต้นในเมืองโออิตะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ว่าที่นั่นเป็นเมืองเล็กๆในชนบทที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม ทำให้ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นพื้นฐานของชุมชนถูกลืมคนหนุ่มสาวย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ทิ้งผู้สูงอายุไว้เช่นเดียวกับภูมิปัญญาต่างๆ ที่ไม่ได้รับการสานต่อชนบทจึงขาดพละกำลัง เกิดความยากจนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนในปี 2512ด้วยการสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

“การทำให้ชุมชนมีรายได้จะต้องสร้างสถานที่ขึ้นมาให้ชุมชนหารายได้ได้เอง จึงเกิดการรณรงค์ตั้งแต่ปี2512เพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมี OVOP เป็นศูนย์กลางที่กระตุ้นให้คนในชุมชนของโออิตะสร้างงานจนมีรายได้เข้ามาแต่ไม่จำเป็นต้องเร่งให้มีรายได้สูงมาก เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของเรา”

การเสวนาหัวข้อเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ในงาน SD Symposium 2018

 

อูชิดะขยายความถึงเป้าหมายของ OVOP ว่าต้องการยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” มากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งนับว่าโชคดี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือรัชกาลที่ 9ได้ทรงให้แนวทางไว้ ซึ่งการจะทำให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความพอใจและความพอเพียงOVOP จึงเน้นให้ชุมชนทำสิ่งที่มีความสุขโดยใช้สิ่งที่มีในท้องถิ่นซึ่งใช้งบประมาณไม่มากในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆบนหลักการพึ่งพาตัวเองที่ใครก็ทำได้ไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไหร่

 

“เรามีเทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้เหมือนกับทั่วโลก ได้แก่ 1.การหมัก เช่น เหล้าสาเก 2.การตากแห้ง เช่น เห็ดอบแห้ง 3.การดอง เช่น ผักดองน้ำส้มสายชู4.การรมควัน เช่น ไส้กรอก แฮม5.การนึ่ง 6.การทอด 7.การคั้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกรรมวิธีที่แทบจะไม่ต้องใช้เงินก็สามารถทำได้หรืออาจจะเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากภาคเกษตรกรรมเช่นGreen Tourism หรือ Agritourismที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั่นเอง”

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากOVOP

 

ชุมชนเริ่มด้วยความสุข องค์กรท้องถิ่นหนุนด้วยโอกาส ต่อยอดสินค้าสู่การท่องเที่ยว

อูชิดะยกตัวอย่างจุดเริ่มต้นของOVOP ที่เกิดจากคนในหมู่บ้านริเริ่มทำสินค้าเองเช่น เกษตรกรแม่บ้าน Megumi-Kai ที่รวมกลุ่มกันเพื่อปลูกมะเขือเทศสดและนำมาทำซอสมะเขือเทศ ซึ่งหากพวกเขาคิดว่าจะต้องสู้กับตลาดใหญ่ๆ คงจะไม่สามารถทำจนประสบความสำเร็จได้ แต่ทุกคนกลับลองทำจริงจนซอสมะเขือเทศที่ทำด้วยมือและไม่มีส่วนผสมอื่นๆ สามารถขายได้ถึง50,000ขวดต่อปี สร้างมูลค่าเป็นเงินได้ถึง 20 ล้านเยน โดยที่ทุกคนต่างมีความสุขกับการทำงานร่วมกับเพื่อนในชุมชนและยังคงทำมาจนถึงทุกวันนี้

 

“สิ่งที่ OVOP ทำไม่ใช่นโยบายจากภาครัฐแต่เป็นการเคลื่อนไหวของชุมชน โดยมีผู้ว่าเมืองโออิตะช่วยต่อยอด โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีเงื่อนไข 3อย่างคือ 1.คุณภาพต้องคงที่2.สามารถผลิตได้สม่ำเสมอ เพราะOVOP มีคุณลักษณะอยู่ระหว่างอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน(PrimaryIndustry)และอุตสาหกรรมขั้นทุติยะ(Secondary Industry) ที่นำผลผลิตจากอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานมาแปรรูป3.ผ่านการรับรองมาตรฐานและทดลองขายในตลาดก่อนอย่างน้อย 2-3 ปี โดยชุมชนต้องอดทนรอ และศึกษาการทำบัญชีและเงินสดหมุนเวียนด้วยกระทั่งเมื่อมีการถามหาสินค้าเกิดขึ้นตลาดก็จะตามมาแบบปากต่อปากส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ควรสนับสนุนโอกาส เช่น การจัดงานออกร้านประจำปี การจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อการผลิต หรือการมีร้านค้าปลีกซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณมาก”

 

จากนั้นสิ่งที่จะตามมา คือ การท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันOVOP มีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ การศึกษาดูงานและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยชุมชนโออิตะพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวในสองรูปแบบแรกมากกว่า จึงควรเน้นการสร้างความรู้และแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากมาท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อให้คนอื่นๆ ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น และทำให้รายได้เกิดการกระจายไปถึงชุมชน

 

อูชิดะกล่าวทิ้งท้ายว่าหลังจากมีโอกาสได้เยี่ยมชมการทำผลิตภัณฑ์และพูดคุยกับชุมชนในภาคเหนือ แล้ว เห็นว่าการพัฒนาสินค้าชุมชนของไทยมีทิศทางที่ดีเพราะมีหลายภาคส่วนสนับสนุนและยังหวังว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน เพื่อจุดประกายให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางในการนำพลังชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป

 

เน้นใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ในงาน “SD Symposium 2018”ยังมีชุมชนตัวอย่างในประเทศไทยที่ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดไม่ว่าจะเป็น

ไม้หมอนฟาร์ม จ.เชียงรายโดยคุณอารีพร สุยะ และคุณสุนันท์ สุยะ

 

ที่ได้บอกเล่าว่าจากการที่เชียงรายเป็นเมืองสมุนไพร ชุมชนจึงคิดทำเรื่องสมุนไพรร่วมกันอย่างพอเพียง โดยนำทุกอย่างมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดและจากการที่ไม้หมอนฟาร์มมีเครื่องกลั่นสมุนไพรหอมระเหย จึงสนับสนุนให้ชุมชนนำสมุนไพรมาทำน้ำมันหอมระเหย เมื่อมีเศษสมุนไพรเหลือจากการต้มก็นำมาผสมกันจนเป็นก้อนหอมปรับอากาศสำหรับรถและห้องนอนนอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างทดลองทำดินเพาะกล้าไม้จากต้นกระถินริมรั้วซึ่งเดิมต้องตัดทิ้งแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

บุญชื่น โพธิ์แก้ว จากสวนยายดา เจ๊บุญชื่น ระยอง

 

บุญชื่น โพธิ์แก้ว จากสวนยายดา เจ๊บุญชื่น จ.ระยอง ร่วมแบ่งปันว่า สวนผลไม้ปลอดสารพิษแห่งนี้เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ซึ่งเดิมได้นำเปลือกผลไม้ที่ทิ้งไว้เป็นตันๆ ไปทำปุ๋ยหมัก แต่เมื่อเห็นโครงการเลี้ยงไส้เดือนดินจึงคิดว่าน่าจะเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการนำเปลือกทุเรียนซึ่งย่อยสลายง่ายที่เหลือจากการทำปุ๋ยหมักมาเลี้ยงไส้เดือนดิน ทำให้ได้ทั้งปุ๋ยใส่สวนและเพิ่มรายได้จากการขาย จนเป็นต้นแบบการเกษตรอินทรีย์

สุพัตรา เงินสมบัติ จากโครงการ Paper Band ถักทอสายใยสานใจชุมชน กาญจนบุรี

 

สุพัตรา เงินสมบัติ จากโครงการ Paper Band ถักทอสายใยสานใจชุมชนจ.กาญจนบุรีเล่าว่า ชุมชนท่าตะคร้อรู้จักPaper Band หรือเส้นเทปกระดาษ จากการไปดูงานที่โรงงานวังศาลาของเอสซีจีจึงคิดว่าน่าจะนำไปทำประโยชน์ได้ นอกจากนำไปรีไซเคิลเป็นเยื่อใหม่จึงนำมาสานเป็นตะกร้าที่มีความสวยงาม นอกจากนี้ ยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

 

เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนซึ่งเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้จากความร่วมมือและการเห็นความสำคัญของคนในชุมชน ที่กล้าคิด กล้าทำ จึงสามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

Mind mapping สรุปองค์ความรู้จากการเสวนา

You Might Also Like