9 กันยายน 2564…Care the Whale ณ คุ้งบางกะเจ้า เป็นหนึ่งในโครงการลูกของ Care the Whale ที่มุ่งลดการสร้างขยะจากต้นทาง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยให้ระบบนิเวศของโลกไม่เสื่อมสลาย
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Care the Whale “ขยะล่องหน” เป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะทำให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนตามวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยได้ร่วมกับพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยปกติ Care the Whale จะมุ่งไปที่พื้นที่อาคาร สำนักงาน หรือศูนย์การค้า ซึ่งที่ผ่านมามีการทำในพื้นที่ รัชดา สุวรรณภูมิ พระราม 4 เป็นต้น แต่ครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง วัดจากแดง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำร่องทำโครงการที่คุ้งบางกะเจ้าซึ่งเป็นชุมชนใกล้วัดจากแดงและที่สำคัญเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงอ่าวไทย ปัญหาหนึ่งที่พบในบริเวณนี้คือขยะที่ปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำและกำลังจะออกสู่ทะเล
“วันนี้เรามีพันธมิตรทั้งวัดจากแดง รวมถึงสหพัฒน์ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกแบบโครงการร่วมกันเพื่อทำให้ Whale ตัวนี้ไม่ต้องกินพลาสติก โดยคอนเซปต์ของโครงการก็คือ ขยะล่องหน ซึ่งใช้แนวคิดเดิมของการร่วมกันกำจัดขยะให้หายไปเพราะเราจะร่วมกันใช้ให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เหลือเป็นขยะที่ปนเปื้อนมาทำลายสิ่งแวดล้อม
อย่างที่ทราบดีว่าไทยมีปัญหาขยะและเราเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ปล่อยขยะลงแหล่งน้ำและออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นอันตรายกับซึ่งแวดล้อม การบริหารจัดการขยะของโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้ที่อื่น เพราะวัดจากแดงอยู่ติดกับพื้นที่ทางออกสู่บริเวณที่เรียกว่าคุ้งบางกะเจ้า บริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลออกสู่อ่าวไทยด้วย” นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขยายความโครงการ
การดำเนินงานจะทำโดยร่วมมือกับชุมชนบางกระเจ้าให้คนในพื้นที่เก็บขยะมาส่งให้ทางวัดจากแดงที่มีการบริหารจัดการของเหลือใช้เหล่านี้ แล้วนำมาแลกเป็นสิ่งของที่จำเป็นกับการอุปโภคบริโภค ซึ่งสนับสนุนโดยสหพัฒน์ ในส่วนของการประเมินผลทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีแพลตฟอร์มกลางที่สามารถเก็บบันทึกจำนวนขยะที่รับมาและนำไปรีไซเคิล รวมทั้งมีการคำนวนขยะที่เข้ามาเพื่อให้เห็นจำนวนขยะที่นำไปรีไซเคิลแล้ว และคำนวณการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อทำให้เห็นว่าการร่วมมือนี้มีผลที่เป็นรูปธรรม ลดโลกร้อนและช่วยสิ่งแวดล้อมได้จริง โดยโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน-ธันวาคม 2564
ส่วนของวัดจากแดงจะทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ในการคัดแยกและทำความสะอาดขยะ รวมทั้งเป็นตัวกลางในการแลกขยะจากชุมชนคุ้มบางกะเจ้า กับสินค้าอุปโภคบริโภคของทางสหพัฒน์ พระเมธีวชิรโสภณ (ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง เล่าให้ฟังถึงการทำงานของทางวัดไว้อย่างน่าสนใจว่า
“จุดเริ่มต้นของการทำงานเกิดจากปัญหาคือขยะ เราจึงหาทางออกแบบบ้าน ๆ ด้วยการเผาขยะในวัดเพราะมีเตาเผาแต่ก็ยังคงมีปัญหาส่งกลิ่นเหม็น ดังนั้นเมื่อดูจากพระไตรปิฎกเห็นว่ามีวินัยปิฎกเขียนไว้ว่าหากพระไม่เก็บกวาดทำความสะอาดจะโดนปรับอาบัติทุกคน เป็นวินัยของพระ การเก็บกวาดสิ่งสกปรกจึงถือเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นที่หนึ่ง จึงนำคำสอนนั้นมาแก้ปัญหา ซึ่งแนวทางที่ใช้คือใช้แนวคิด ททท คือ ทำทันที โดยเริ่มทำที่วัด หลังจากนั้นจึงเชิญชวนรณรงค์นำเด็กเข้ามาอบรม และออกไปอบรมชุมชนในเรื่องของการคัดแยกขยะ สุดท้ายทำให้เราได้ปุ๋ย น้ำหมัก เอนไซม์ และของใช้หลายอย่าง ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือปุ๋ยซึ่งมีหลายสิบตัน เราส่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาไปแล้วกว่า 40 ตัน ส่วนของพลาสติกเรานำไปทำผ้าไตรจีวร และทุกคนสนใจ ตอนนี้เราต่อยอดไปอีกระดับโดยการนำถุงพลาสติกที่ล้างสะอาด แยกประเภทแล้วมาผสมกับแกลบทำเป็นไม้กระดาน ฝาผนังที่อยู่ในอาคารศูนย์เรียนรู้และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวชุด PPE ที่ทำจากขวดน้ำพลาสติก เพื่อส่งไปถวายวัดที่สวดศพ สัปเหร่อที่เผาศพ คนเก็บขยะ”
พระเมธีวชิรโสภณ กล่าวต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นขยะถ้าเรามองแบบไม่มีปัญญาเราก็จะเห็นขยะเป็นขยะ แต่ถ้ามองแบบมีปัญญาก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นคือวัตถุดิบในการผลิตสิ่งของ ถ้ามีปัญญามากกว่านั้นก็มองว่าเห็นว่าใครนำสวรรค์วิมานมาทิ้งตรงนี้
บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่เข้ามาช่วยสนับสนุนสินค้าอุปโภค บริโภคซึ่งมีเป็นจำนวนมากให้คนที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้แลกไปใช้ ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมโครงการ
“กว่า 80 ปีที่ทำงานมา เราคำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม เรามีโครงการที่สหพัฒน์ทำเรื่องของสิ่งแวดล้อมมา 5 ปีต่อเนื่องอย่างสหพัฒน์ให้น้อง ซึ่งเป็นการให้ความรู้กับเยาวชนนักเรียน ให้รู้จักการแยกขยะแล้วนำไปรีไซเคิล แต่เราไม่มีการประเมินผล ซึ่งพอตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามาเสนอแนวความคิดขยะล่องหน เราก็สนใจมากเพราะเป็นการใช้สิ่งของโดยเห็นคุณค่า ไม่ให้เหลือเป็นขยะ และนำไปรีไซเคิลอย่างที่วัดจากแดงทำ เช่น ชุด PPE ซึ่งเรามองว่าแค่ชุมชนบางกะเจ้าชุมชนเดียวมีขยะถึง 4 ตัน ถ้าเราทำให้หายไปได้ แล้วถ้าชุมชนอื่นทำแบบเดียวกันจะลดขยะได้เท่าไหร่ เมื่อคิดได้อย่างนี้เราก็อยากจะเข้ามาร่วมโครงการด้วย” ผาสุก รักษาวงศ์ รองประธานบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้
นพเก้า เสริมความคาดหวังของโครงการนี้ว่า การจะทำเรื่องของ Waste Management หรือการจัดการสิ่งแวดล้อม หากจะทำให้สำเร็จต้องปรับวิธีคิดเพื่อให้ส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เขาเกิดความรู้สึกอยากดูแลสิ่งแวดล้อม
“การแยกขยะจะทำให้เราเห็นว่าแต่ก่อนเราทิ้งของมากขนาดไหน มุมมองของเราต่อขยะจะเปลี่ยนไป การมีสปอนเซอร์เข้ามาจะเป็นแรงจูงใจทำให้คนเคยชินและเริ่มมาเรียนรู้เรื่องของการคัดแยกขยะ เพื่อให้มีเส้นทางไปต่อ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าต่อไปจะทำให้เกิดพฤติกรรมคุ้นชินและเปลี่ยนพฤติกรรมในการเก็บคัดแยกขยะมากขึ้น โครงการนี้จะเป็นตัวผลักดันทำให้ปริมาณขยะที่ถูกทิ้งสามารถนำมารีไซเคิลได้และจะทำให้ขยะในพื้นที่คุ้มบางกะเจ้าลดลง เรายังหวังว่าจะมีพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจจะอยากทำโครงการแบบนี้ด้วยโมเดลที่เราทำกับบางกะเจ้าด้วยเช่นกัน”
ผาสุก มองว่าการทำโครงการนี้จุดมุ่งหมายแรกอาจจะมุ่งไปที่พื้นที่บางกะเจ้า แต่หากสามารถขยายต่อไปยังชุมชนหรือพื้นที่อื่นได้ก็จะช่วยลดขยะได้มากขึ้น
“นอกจากการลดขยะ การทำโครงการนี้ในช่วงโควิด-19 จะช่วยให้คนลดภาระค่าครองชีพของเขาได้ เราคาดหวังว่า ถ้าเขาเก็บแยกขยะจนเคยชินจะทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และเมื่อรีไซเคิลได้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สิ่งของที่เราไม่ใช้แล้วเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับชุมชน สุดท้ายเราต้องการให้โครงการนี้ต่อยอดไปได้หลายชุมชน นอกจากเราอาจจะมีบริษัทอื่น ๆ เข้ามาร่วมเพื่อให้ขยะล่องหนไปให้หมด นี่คือสิ่งที่เราต้องการเห็นอย่างสุดสูง”
พระเมธีวชิรโสภณ กล่าวถึงบทเรียน ที่ทำให้การจัดการเรื่องขยะของวัดจากแดงประสบความสำเร็จจนกลายเป็นต้นแบบให้อีกหลาย ๆ คนเดินตามเส้นทางเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งของว่า
“จริง ๆ แล้ว ความทุกข์จากปัญหาขยะเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่ง ถ้าเราบ่นแต่ไม่ทำก็ไม่หมด เราจึงลองลงมาทำดูพอช่วยลดปัญหาเราก็บอกต่อคนอื่น เชิญชวนให้เขามาทำ เห็นเป็นรูปธรรมไปทีละอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างต้องทำต่อเนื่องประมาณ 2 ปี เช่น โฟม หลายคนมองว่าไม่รู้จะจัดการอย่างไร เราจึงทดลองทำดูโดยนำโฟมผสมทินเนอร์ก็ได้เป็นกาวยาง นำโฟมมาบดผสมซีเมนต์ทำเป็นกระถางต้นไม้ ตอนนี้กำลังลองเอาโฟมมาผสมซีเมนต์เพื่อทำอิฐตัวหนอน จากโฟมอย่างเดียวสามารถทำกาว อิฐตัวหนอน กล่องใส่ดินสอ ทำกระถางปลูกต้นไม้ ทำหินเทียมจากโฟม เรื่องโฟมอย่างเดียวเราใช้เวลาทดลองจนได้ผล พอเห็นผลเราก็เชิญชวนทำต่อ”
พระเมธีวชิรโสภณ อธิบายต่อเนื่อง เมื่อเห็นเป็นรูปธรรมคนก็อยากจะทำตาม เมื่อวัดนับ 1 ให้ ญาติโยมนับ 2 ต่อไปก็มีองค์กรมาช่วยนับ 3 นับ 4 เรื่องขยะล่องหนก็เหมือนกันทางวัดนับ 1 แล้ว มีตลาดหลักทรัพย์ฯ สหพัฒน์ เข้ามานับ 2-3 ต่อไป ก็จะขยายชุมชนออกไปได้และขยะก็จะล่องหนไปอย่างแน่นอน
นพเก้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ตั้งเป้าจะมีปริมาณขยะถูกนำมาเข้าโครงการ และนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณขยะในคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,000 กิโลกรัมต่อเดือน นอกจากนี้ การดำเนินงานของ สถานีขยะล่องหน @ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ยังเป็นการสร้างกลไกลดค่าครองชีพช่วยเหลือชุมชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
นับเป็นการสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ที่มีความทันสมัย ด้วยการเก็บ คัดแยกขยะ เพื่อขยะล่องหนในเวลาอนาคตอันใกล้