27 กันยายน 2564…ภายใต้กระบวนการผลิตปุ๋ยตรากระต่าย มีถุงใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ 800 ใบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการ Upcycle กับพันธมิตรเป็น RabAdapt กระเป๋าไลฟ์สไตล์ นำรายได้จากการขาย ส่งต่อเป็นทุนการศึกษา จากพี่กระต่ายสู่น้องเยาวชนไทย
มนันย์พร เจียรวนนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท เจียไต๋ จำกัด วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ (Social Activist Artist) และฐาปนีย์ สินาดโยธารักษ์ ผู้อำนวยการโครงการร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ร่วมกันเปิดตัวคอลเล็กชัน RabAdapt
“นับเป็นครั้งแรกของการแปลงโฉมกระสอบถุงปุ๋ยตรากระต่ายสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ ด้วยกระบวนการ Upcycle ที่นำวัสดุเหลือใช้มาออกแบบและผลิตเป็นของใช้ชิ้นใหม่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังช่วยกระจายรายได้สู่กลุ่มช่างตัดเย็บที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเจียไต๋จะส่งมอบกระเป๋า RabAdaptให้กับร้านปันกัน โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อนำไปจัดจำหน่าย โดยเงินที่ระดมได้ทั้งหมดจะมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทุนในมูลนิธิยุวพัฒน์ต่อไป”
มนันย์พร ขยายความต่อเนื่องถึงโครงการนี้ว่า “เจียไต๋” ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด ด้วยหลัก 3P ได้แก่ Prosperity, People และ Planet ได้พยายามปลูกฝังจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจพร้อมมี Innovation เช่นกระบวนการ Upcycle ถุงปุ๋ยตรากระต่าย
วิชชุลดา อธิบายเพิ่มเติมถึงความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ตรงกับแนวคิดการทำงานของตัวเองในการเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นงานศิลปะอันล้ำค่า (Turning Trash to Treasured Art)
“แบรนด์วิชชุลดาเชื่อว่างานศิลปะและการออกแบบที่คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำคือ ของเหลือใช้ที่เสมือนทรัพยากรของการทำงาน มาถึงกลางน้ำ ก็ได้เชื่อมโยงกับช่างฝีมือตัดเย็บ และปลายน้ำ คือการส่งมอบสินค้าใหม่ให้ทุกคนได้ใช้ ทั้งหมดเป็นการนำศักยภาพที่แต่ละคนถนัดมาช่วยกัน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะล้นโลก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดโลกร้อน”
วิชชุลดา ขยายความต่อเนื่อง นอกจากกระสอบถุงปุ๋ยตรากระต่าย ก็ยังนำเศษผ้าไหม 45 กิโลกรัม จากสินค้า OTOP จังหวัดนนทบุรี มาผสานร่วมกันเป็นงานศิลปะด้วยกระบวนการ Upcycle ที่กระเป๋าทั้งหมด 1,000 ใบ มีการจัดเรียงสีสันของเศษผ้าแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ที่ซื้อกระเป๋า RabAdapt ก็เสมือนได้งานศิลปะไปสะสม และยังสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง ส่วนเศษกระสอบถุงปุ๋ยจากการตัดเย็บกระเป๋าทุกใบ ได้นำมาจัดทำ ดิสเพลย์กระต่ายสำหรับโชว์สินค้าคอลเล็กชั่นนี้ได้จำนวน 1 ตัว ขนาด 1.5×1.2×2.5 เมตร ซึ่งช่วยสานต่อแนวคิด Zero Waste ลดปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตอีกด้วย
คำนวณคร่าว ๆ เบื้องต้น
💚เราลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปได้กว่า 224.9 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
💚เที่ยบเท่ากับการดูดซับ CO2 /ปี ของต้นไม้ 25 ต้น
ฐาปนีย์ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ที่รายได้จากการขาย RabAdapt จะมอบเป็นทุนการศึกษา เพราะยังมีเด็กไทยจำนวนมากที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มูลนิธิยุวพัฒน์ได้ช่วยเหลือ มอบทุนการศึกษาและดูแลติดตามนักเรียนทุนให้เรียนจบชั้น ม. 6 หรือ ปวช. 3 เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสและมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิยุวพัฒน์มีนักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแล 8,269 คน ทั่วประเทศ
ในช่วงสถานการณ์โควิด -19 มูลนิธิยุวพัฒน์ได้ติดตามนักเรียนทุนใกล้ชิดมากขึ้น โดยร่วมกับคุณครู กลุ่มพี่เลี้ยงอาสาที่มาช่วยเหลือดูแลนักเรียนทุนผ่านออนไลน์และการพูดคุยทางโทรศัพท์ และสำหรับการเรียนการสอนที่ต้องปรับตัวมาเรียนผ่านออนไลน์ เงินทุนที่เด็กๆ ได้รับ ณ ขณะนี้ บางส่วนจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น
สำหรับผู้ที่สนใจ กระเป๋าคอลเล็กชัน RabAdapt และต้องการบริจาคทุนการศึกษาพร้อม ๆ กัน สินค้ามีวางจำหน่ายแล้วที่ร้านปันกันทั้ง 16 สาขา และช่องทางออนไลน์ที่ LINE My Shop: pankan online shop หรือ https://shop.line.me/@pankanonline