18 ตุลาคม 2564…ด้วยความรับผิดชอบของ AIS อย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบทางการสื่อสารกับภารกิจ “คนไทย ไร้ E-Waste” ส่งผลให้E-Waste เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้องได้แล้วกว่า 223,807 ชิ้น สามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,238,070 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ เทียบเท่ากับต้นไม้ขนาดใหญ่ 248,674 ต้น (น้ำหนัก 10,749.17 Kg. / 10.7 Tons)
ตัวเลขข้างต้นสำหรับประเทศไทย อยู่ในส่วนของ 20% ที่ผู้ใช้มือถือ แท็บเลต แบตมือถือ สายชาร์ต หูฟังทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อการนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่อีก 80% ยังต้องเดินหน้าสร้างองค์ความรู้ สื่อสาร มีแคมเปญต่าง ๆ ส่งเสริมเพื่อให้เป็น “คนไทย ไร้ E-Waste”
ทั้งนี้ ตัวเลข E-Waste ของประเทศไทย ก็มีความสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2564 แต่ละคนบนโลกจะผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉลี่ย 7.6 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่าจะเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล 57.4 ล้านตันทั่วโลก ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 17.4% ที่มีส่วนผสมของสารอันตราย และวัสดุล้ำค่าจะถูกบันทึกว่าถูกรวบรวม บำบัด และรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
“ในวัน International E-Waste 14 ตุลาคม ปีนี้ AIS ขอใช้โอกาสนี้ในการย้ำเตือนสังคมให้เห็นถึงปัญหา E-Waste ที่มีการเติบโตสูงสุดในบรรดาขยะทั้งหมด ซึ่งจะต้องจัดการทิ้งให้ถูกวิธีและมีความรับผิดชอบ จากความตั้งใจนี้ทำให้เราสร้างภารกิจ คนไทยไร้ E-Waste ขึ้น โดยรับอาสารวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันเรามีถังรับ E-Waste ในจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 2,400 จุด ซึ่งยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เช่น ไปรษณีย์ไทย ที่สามารถฝากทิ้ง E-Waste กับพี่ไปรษณีย์ได้ รวมถึงองค์กรเครือข่ายคนไทยไร้ E-Waste ในการเป็นจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคนไทยทั่วประเทศ”
สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวต่อเนื่องถึงเป้าหมายการทำงานของ AIS ต่อเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีการลงมือทำงานอย่างจริงจังมีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง สร้าง Engagement ทุกรูปแบบของการสื่อสารเพื่อให้มีองค์ความรู้ กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งในปีนี้ เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หนึ่งใน AIS Family ในฐานะเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกครั้งล่าสุด ได้ขออาสาร่วมภารกิจ “คนไทย ไร้ E-Waste”
กล่าวได้ว่า เทนนิส คือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดสิ่งที่มาจาก E-Waste แบบ 100% เพราะเหรียญทองโอลิมปิก จากโตเกียวเกมส์ ทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ราว ๆ 6 ล้านเครื่องที่ชาวญี่ปุ่นส่งเข้าสู่ระบบรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
“เหรียญทองโอลิมปิกนับว่าเป็นความภูมิใจสูงสุดที่เกิดจากความพยายาม และที่สำคัญคือทุกเหรียญเกิดจากความตั้งใจของชาวญี่ปุ่นในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างเป็นเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬา ซึ่งถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นตัวอย่างในการรีไซเคิลให้ขยะกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง วันนี้ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่ยังจัดการไม่ถูกวิธี เราต้องเริ่มจากการวางแผนการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ให้คุ้มค่าที่สุด และหากจำเป็นต้องทิ้งก็ควรทิ้งให้ถูกวิธีกับ AIS ที่มีจุดรับทิ้งมากมาย พวกเราทุกคนช่วยกันได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และโลกของเรา”
ปัจจุบันผู้คนพึ่งพาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้พวกเขาเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงาน ครอบครัว และชีวิตทางสังคม สิ่งนี้ไม่เพียงหมายถึงการใช้เทคโนโลยีในบ้านมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การบริโภคผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
เมื่อบทบาททางธุรกิจของ AIS เชื่อมโยงกับปัจจุบันและอนาคต จะต้องส่งมอบประสบการณ์ใหม่ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกรูปแบบแล้ว อีกด้านหนึ่งต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ร่วมดูแลรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนได้
“เราเชื่อว่าการจะขับเคลื่อนเพื่อจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คนไทยไร้ E-Waste ได้นั้น ต้องเกิดจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และลงมือทำอย่างจริงจัง ก็จะทำเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุดภายใต้หลักการ Environment Social Governance” สายชลกล่าวในท้ายที่สุด