4 ธันวาคม 2564…ทั้ง 2 องค์กรเป็นสมาชิกของ TBCSD – Thailand Business Council for Sustainable Development องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS นันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกันกล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้
สำหรับ AIS ความต่อเนื่องของโครงการกับหลากหลายภาคส่วนต่างๆ ที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันอย่างมากมาย นับเป็นการสร้างพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งในกระบวนการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนไทยไร้ E-Waste ทำให้ AIS นำ E-Waste เข้าสู่การจัดการอย่างถูกวิธี แล้วกว่า 240,125 ชิ้น (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2564)
ความร่วมมือครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญในการร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง TOYOTA ผู้นำในธุรกิจยานยนต์ที่ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม
กลุ่มบริษัท โตโยต้าทั่วโลกมีพันธกิจในการขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับการสร้างสังคมแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) หนึ่งในพันธกิจคือ “การบริหารจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดใช้แล้วแบบครบวงจร” ซึ่งไม่เพียงแต่จะพร้อมรองรับแบตเตอรี่ไฮบริดใช้แล้วจากผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังพร้อมเปิดรับให้บริการกับลูกค้าทุกประเภทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อันนำมาซึ่งความร่วมมือในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์กับ AIS ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรขนาดใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างสมดุลย์ด้านสิ่งแวดล้อมสู่สังคมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจเช่นกัน
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ฮิโรมิตสึ ทาคากิ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์ สยาม จำกัด กล่าวเสริมว่า ด้วยบริษัทเป็นผู้ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีระดับโลกมาอย่างยาวนาน จะมาเสริมขีดความสามารถในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับจากประชาชนมาเข้าสู่กระบวนการจัดการ ตามเป้าหมายของเราในการรีไซเคิลแบบ Zero Landfill อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เริ่มต้นที่ตัวเราเอง แยกขยะ หากเป็นกลุ่มของโทรศัพท์มือถือ ส่งลงกล่อง E-Waste เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งสมาร์ทโฟนเครื่องล่าสุดที่ใช้อยู่ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่งถอยใหม่มาจากช่องทางต่าง ๆ อาจจะมีส่วนประกอบบางประเภทที่มาจากเครื่องที่คุณทิ้งแล้ว เป็นไปตามกระบวนการของ Circular Economy