3 พฤศจิกายน 2565…ปัจจุบันเราใช้บรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวันต่อคนค่อนข้างมาก ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ดีอาจส่งผลให้กลายเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ภัยพิบัติและมลภาวะที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์
เทรนด์การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในยุคนี้ จึงมองเรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบให้มีฟังก์ชันที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานในแบบอื่นได้ เพื่อให้ทรัพยากรที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ถูกใช้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีความทนทานและสะดวกสบายในการใช้งาน
ด้วยเหตุนี้ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP จึงมีการจัดโครงการประกวดออกแบบแพคเกจจิ้งในระดับอุดมศึกษา “SCGP Packaging Speak Out 2022” เป็นปีที่ 7 ภายใต้แนวคิด “RETHINK FOR BETTER NORMAL” เพื่อชิงเงินรางวัลรวม 210,000 บาท
“โครงการนี้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ Gen Z ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของ SCGP ในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวคิด SCG ESG 4 Plus หรือ Environmental, Social and Governance และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า” วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เผยถึงโครงการ
ล่าสุด SCGP ได้จัดกิจกรรมประกวดและคัดเลือกรอบตัดสินไปแล้ว โดยมีผลงานจากนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 10 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 267 ทีม มานำเสนอไอเดียสร้างสรรค์การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ด้วยหลักการ “Easy to Recycle” หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการนำไปคัดแยกเพื่อนำกลับมารีไซเคิล และหลักการ “Upcycle” หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถยืดอายุการใช้งานหลังจากที่นำสินค้าออกแล้ว ด้วยการเปลี่ยนรูปร่างบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 หลักการที่นำเสนอจะต้องทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
โดยการตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจาก SCGP ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้พิจารณาตัดสินจากความคิดสร้างสรรค์ ฟังก์ชันใช้งาน ความสวยงามของกราฟิก และการนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ จนได้ทีมที่ชนะเลิศและรับเงินรางวัล 70,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตร
นั่นคือทีม “ส้มป่อย” โดยจินตภา สว่างปัญญากูล และอิษยา ตระการสาธิต คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากผลงาน Shoes-Able ที่มองว่าปัจจุบันมีกล่องรองเท้าจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกใช้งานและย่อยสลายได้ยาก จึงนำกล่องรองเท้าที่ออกแบบให้ดัดแปลงเป็นชั้นวางรองเท้า 2 ชั้น สามารถใช้ประโยชน์ใหม่และลดพื้นที่จัดเก็บในเวลาเดียวกัน
“เรานำกล่องรองเท้ามาออกแบบให้มีรอยปรุ ซึ่งผู้ใช้สามารถตัดตามรอยปรุและพับให้กลายเป็นชั้นวางรองเท้าได้ ตอบโจทย์วัยรุ่นในหอพัก-คอนโด ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ทำให้ไม่ค่อยมีที่เก็บรองเท้า”
จินตภา และอิษยา กล่าวถึงความรู้สึกแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ดีใจมากที่ไอเดียของเราแม้จะเป็นไอเดียธรรมดา แต่คณะกรรมการและผู้ชมมองเห็นว่ามีศักยภาพ สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ หลังจากนี้เราอาจจะไปคิดพัฒนาให้กล่องของเราสามารถตัดและพับได้ง่ายมากขึ้น
ในส่วนของทีมรองชนะเลิศรับเงินรางวัล 50,000 ได้แก่ ทีม “i_deasign” โดยสกรรจ์ เกียรติบุญศรี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำเสนอผลงาน CHOO ด้วยแนวคิดช่วยลดขยะจากขวดสบู่ โดยการออกแบบขวดสบู่ที่สามารถแยกชิ้นส่วนนำมาประกอบเป็นของเล่น (รถไฟพร้อมราง) และยังง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลในอนาคต
“ผลงานนี้เป็นบรรจุภัณฑ์ขวดสบู่อาบน้ำสำหรับเด็กที่สามารถนำมาอัพไซเคิลเป็นของเล่นสำหรับเด็กได้ โดยกระบวนการที่นำมาอัพไซเคิลต้องมีการล้างและแยกชิ้นส่วนซึ่งเป็นการปลูกฝังการแยกชิ้นส่วนบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน ทำให้เด็กมีความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและรู้จักขั้นตอนการแยกขยะ คอมเม้นต์ต่าง ๆ จากคณะกรรมการและประสบการณ์ในการประกวดครั้งนี้มองว่าสามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้กับงานอื่น ๆ ในอนาคตได้”
นอกจากทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศแล้วยังมีอีก 3 ทีม ซึ่งได้รับรางวัลชมเชย รับเงินรางวัล ทีมละ 30,000 บาท ได้แก่ “ทีม Jirat Chamsai” จากผลงาน Measurecle ที่นำเสนอไอเดียออกแบบบรรจุภัณฑ์กล่องวงเวียนพลาสติกให้มีลายเส้นของไม้บรรทัดหลากหลายรูปแบบเพื่อนำไปใช้งานได้พร้อมกัน ทีม “Standguin” จากผลงาน Standguin ที่ออกแบบกล่องหูฟังให้ดัดแปลงเป็นแท่นวางพร้อมช่องใส่อุปกรณ์ และทีม B2B จากผลงาน CATBOX ที่ออกแบบกล่องใส่ทรายแมวให้ประยุกต์ใช้เป็นห้องน้ำแมวได้ สอดคล้องกับสโลแกน พกง่าย ใช้ง่าย ทิ้งสะดวก
จากการประกวดในครั้งนี้ แม้บางทีมจะมองว่ายังต้องพัฒนาในแง่ของการทำโมเดลและการเฟ้นหาวัสดุที่เหมาะสมเพื่อนำมาพัฒนาชิ้นงานต่อไป แต่สิ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือ การได้รับประสบการณ์ในการออกแบบตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งนั่นทำให้หลังจากนี้ก็จะมองของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างละเอียดมากขึ้น ว่าสามารถนำไปออกแบบเป็นของใช้อย่างอื่นได้อีกหรือไม่
“SCGP จัดโครงการประกวดออกแบบแพคเกจจิ้งมาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ได้เห็นพัฒนาการของทีมต่าง ๆ และความตั้งใจที่จะนำความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงโลกและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอแนวคิดการออกแบบที่สามารถผลิตและใช้งานได้ โดยคำนึงถึงตั้งแต่วัตถุดิบ การออกแบบ กระบวนการผลิต และการรีไซเคิล เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบถูกใช้ให้เกิดประโยชน์จริง ตลอดจนความสามารถในการการถ่ายทอดเรื่องราวให้กับคณะกรรมการได้เข้าใจถึงคอนเซ็ปต์การออกแบบ จึงฝากน้อง ๆ นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการนี้ไปสานต่อและปรับใช้กับการทำงานจริง เพื่อร่วมเปลี่ยนโลกของเราให้ยั่งยืน” วิชาญ กล่าวส่งท้าย