3 พฤษภาคม 2566…โครงการ Care the Whale “ขยะล่องหน” ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้สร้างพื้นที่ความร่วมมือในการส่งเสริมการบริหารการจัดการขยะในครัวเรือนและชุมชน นำร่อง “สถานีขยะล่องหน ” บนพื้นที่ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า จ. สมุทรปราการ เป็นปีที่3เพื่อสร้างจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมให้กับชุมชนคุ้งบางกะเจ้าทั้ง 6 ตำบล โดยมีสถานีหลักอยู่ที่วัดจากแดง รับขยะประเภทขวดขุ่น ขวดใส ขวดแก้ว ถุงใส เศษผ้า เพื่อนำไปให้ชุมชน Recycle ,Upcycling และปีนี้เพิ่มขยะเศษอาหาร เป็นหนึ่งในประเภทขยะที่ชุมชนสามารถมาแลกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค
Care the Whale : Climate Action Collaboration@ชุมชน เป็นความร่วมมือขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ด้วยแนวคิดในการดำเนินการ ขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืนด้วยแนวทางขยะล่องหน (Module-Monitoring-Multiply) โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจ และการสื่อสาร (Environmental Impact) ซึ่งในตอนท้ายจะส่งเสริมการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บนฐานสิ่งแวดล้อม (Social Impact)
พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาส วัดจากแดง นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ชัยลดา ตันติเวชกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บมจ. สหพัฒนพิบูล ธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. พริ้นซิเพิล แคปิตอล สุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ. โอสถสภา ร่วมกันถอดบทเรียน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการถอดบทเรียน 2 ปีของโครงการ Care the Whale @ ชุมชนคุ้งบางกะเจ้า สถานีขยะล่องหน หลังจากพบข้อมูลที่มีนัยยะในปี 2564 เมื่อเริ่มโครงการฯ ปี 2564 มีน้ำหนักขยะรวม 4,770 กิโลกรัม ใน 4 เดือน (เดือนละ 1,193 กิโลกรัม) ถึงปี 2565 มีน้ำหนักขยะรวม 19,724 กิโลกรัม ใน 12 เดือน (เดือนละ 1,644 กิโลกรัม)
“จำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้น มาจากการขยายผลที่มีมากขึ้น โดยหัวใจของโครงการอยู่ที่ผู้ร่วมโครงการ เริ่มต้นจากศูนย์ Circular Economy วัดจากแดง พระคุณเจ้าท่านมีความต่อเนื่องงานวิจัยในพื้นที่ มีข้อมูล เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างดีมาก ซึ่งความสำเร็จมาจากการทำงานของวัดถือเป็นปัจจัยแรก ส่วนปัจจัยที่สองที่ประสบความสำเร็จคือ พันธมิตรมีการทำงานทั้งทางลึกและกว้างมากขึ้นเช่นเรื่องขยะขวดแก้ว Recycle เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น”
นพเก้ากล่าวต่อเนื่องถึงปัจจัยที่สามคือชุมชน มีความสำคัญมากส่วนหนึ่งเพราะให้ความร่วมมือ ส่งขยะมาที่วัดจากแดง ส่วนผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมได้ ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ 38,520.86 กิโลกรัมคาร์บอนไดซ์ออกไซต์เทียบเท่า(kgCO2e) และเป็นผลที่โครงการฯนำขยะจำนวนมากไป Recycle ,Upcycling ส่วนปัจจัยที่สี่คือเรื่องการสื่อสารและทำความเข้าใจ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีวาไรตี้และขยายผลตลอดเวลา มีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับเศษขยะบางประเภทที่สามารถนำไปสู่ Recycle ,Upcycling อีกหลายรูปแบบ ทำให้โครงการมีแนวทางพัฒนาและต่อยอดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
พระราชวัชรบัณฑิต ช่วยขยายความถึงชุมชนในคุ้งบางกะเจ้า หันมาสนใจคัดแยกขยะมากขึ้น และขยะที่คัดแยกแล้วทางวัดนำไปทำประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าเป็นขวด PET เอาไปทำเป็นผ้าจีวร ผ้าต่าง ๆ ส่วนถุงแกงพลาสติกก็นำไปนึ่งเป็นน้ำมัน ทำเป็นไม้เทียม เป็นการตอบคำถามหลายคนถามว่า เก็บขยะแล้วเอาไปไหน ใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ทางวัดชี้แจงและทำให้เห็นเป็นตัวอย่างชัดเจน
“ตรงนี้คนในชุมชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นสถานีขยะล่องหนมา ทุกคนรู้เลยว่าต้องเตรียมขยะมาให้ ต้องเพิ่มและขยับแล้ว ชาวบ้านจำนวนมากกระตือรือร้นที่จะจัดการแยกขยะส่งให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ ขยะประเภทหนึ่งที่ชุมชนคัดแยกส่งให้วัดคือ ขวดแก้ว สุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ. โอสถสภากล่าวถึงความร่วมมือตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นต่อยอดมาจาก Bottle to Bottle ของบริษัทเอง ในแง่การคัดแยกขยะขวดแก้ว ซึ่งRecycleได้ตลอดอายุขวดแก้วเอง
“เราให้ความสำคัญขยะขวดแก้วเพราะเป็นผู้ผลิตขวดแก้ว เราเองมีเครื่องดื่มในขวดแก้วมาก สิ่งที่เราตั้งใจคือผลิตขวดแก้วออกมาเท่าไหร่ก็พยายามเก็บกลับมาเท่านั้นในกระบวนการของเราให้มากที่สุด 80% เพื่อกลับRecycle เป็นการลดทรัพยากรธรรมชาติเช่นทรายได้ดีขึ้น ซึ่งการแยกขยะขวดแก้วทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่คุ้งบางกะเจ้าเราเข้ามาทำ 4 ขั้นตอน หนึ่งให้ความรู้การคัดแยกขยะขวดแก้วให้กับวัด ชุมชน โรงเรียน สองส่งมอบขยะขวดแก้วที่เก็บมา สามเก็บข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ไปยังประชาชน โรงเรียนด้วยคลิป การเดินทางขวดแก้ว เพื่อให้รู้ว่าขยะขวดแก้วนำกลับมา Recycleได้ และเปลี่ยนเป็นบุญได้เมื่อแยกขยะที่บ้าน หรือโรงเรียนแล้วรวบรวมมาทิ้งที่สถานีขยะล่องหนที่วัดจากแดง”
การเปลี่ยนขยะขวดแก้วเป็นกองบุญ คือการที่โอสถสภาฯ มอบเงินให้ขยะขวดแก้วกิโลกรัมละ 1 บาท เมื่อชุมชนรวมได้กี่กิโลกรัมก็ตาม บริษัทสมทบเงินให้ และเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์จากโอสถสภาฯ เช่นปี 2565 มีการทำงานรวบรวมขยะจากวัดจากแดงในคุ้งน้ำบางกะเจ้า 8 พันกว่ากิโลกรัม คิดเป็นเงิน 8,000 กว่าบาท บริษัทก็สมทบยอดเงินเข้าไป 20,000 บาท มอบเป็นสินค้าโอสถสภาฯ เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในวัดจากแดง
ชัยลดา ได้กล่าวถึงการ่วมทำงานในโครงการสถานีขยะล่องหนว่า บริษัทจะนำสินค้ามาให้วัดจากแดงเพื่อที่วัดจะได้ใช้เป็นของแลกให้ชุมชนที่นำขยะมาให้วัด
“นับเป็นการช่วยลดค่าครองชีพส่วนหนึ่งให้ชุมชนด้วย ขณะเดียวกันปี 2565 เราเดินสายให้ความรู้โรงเรียนเรื่องการลดขยะ ปีนี้เราอยากให้โรงเรียนนำขยะมาแลกสิ่งของไปใช้ เราเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับโรงเรียน เช่น บางส่วนเพื่อเป็นอาหารกลางวัน เป็นต้น เรามีการปรับให้แลกสินค้าง่าย ปรับสินค้าให้ตรงกับความต้องการของชุมชน ซึ่งโครงการสถานีขยะล่องหน ช่วยประโยชน์หลายทาง รักษาสิ่งแวด ลดขยะ ได้บุญด้วย นำขยะไปทำอย่างอื่นได้ และสุดท้ายได้สินค้าสหพัฒน์ไปใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้วย”
มาถึงอีกหนึ่งพันธมิตร บมจ. พริ้นซ์ซิเพิล แคปิตอลมี14 โรงพยาบาลใน 11จังหวัดทั่วประเทศ และคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ 37 แห่ง มีปณิธานช่วยเหลือชุมชนและสังคม โดยการเข้าร่วมโครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของปณิธาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บริษัทจะให้ความรู้ในเชิงการแพทย์ เพราะช่วงเวลานั้น ขยะติดเชื้อทางการแพทย์มีค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงส่งบุคลากรบริษัทที่ดูแลเรื่องขยะติดเชื้อได้ลงไปให้ความรู้กับชุมชนว่า ขยะแบบใดเป็นขยะติดเชื้อ แบบใดไม่ติดเชื้อ ต้องแยกออกจากกัน ทำให้ชาวบ้านลดขยะติดเชื้อในภาพรวมได้ค่อนข้างมาก
“เราเองจูงใจให้ชาวบ้านนำขยะที่แลก มาเป็นโปรแกรมตรวจสุขภาพง่าย ๆ หรือใช้การตรวจสุขภาพเชิงรุกให้กับคนในชุมชนนั้น ๆ เช่น โรคติดต่อไม่ร้ายแรง ความดัน เบาหวาน เพื่อให้ชาวบ้านมีแรงจูงใจนำขยะที่แยกแล้วมาไว้ที่เรา และเราก็นำสู่กระบวนการจัดเก็บอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปมากขึ้น และปีที่แล้วเราสนับสนุนให้นำขยะขวดต่าง ๆ มาแลกวัคซีนอย่างโมเดอร์นาในสถานการณ์โควิด-19”
ธานี กล่าวถึงปีนี้ บริษัทจะเน้นเชิงรุก การลงชุมชนให้ความรู้ขยะติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อ แยกขยะมาแล้วก็มาแลกวัคซีนยาสมุนไพรที่โรงพยาบาลผลิตขึ้นมาเอง ซึ่งชุมชนจะเห็นประโยชน์การแยกขยะมีประโยชน์ต่อเขาด้วย และชาวบ้านมีสุขภาพดีขึ้นด้วย
ในปี 2566 โครงการสถานีขยะล่องหนมีเป้าหมายที่จะขยายการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน ขยายผลลัพธ์จากภาคเอกชนให้มีส่วนในการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตคนในชุมชนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ทั้งในภาคครัวเรือน หน่วยงาน ร้านค้า โรงเรียน เป็นต้น ลดขยะฝังกลบสนับสนุนให้ชุมชน โรงเรียน ร้านอาหารและหน่วยงานนำส่งขยะประเภทเศษอาหารมาที่ สถานีขยะล่องหน วัดจากแดง เพื่อพัฒนาเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ต่อได้ และส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชน ด้วยการให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นยังชุมชน 6 อบต.
“สำหรับทางวัดเราจะเน้นขยะเศษอาหารในปีนี้ เราได้ทำปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเศษอาหารใช้ในคุ้งบางกะเจ้าทดสอบปีที่แล้ว ใช้เป็นร้อยตัน ที่ผ่านมาจะบอกว่าปุ๋ยอินทรีย์สู้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ เพราะสั่งไม่ได้ แต่ตอนนี้ทางวัดทำปุ๋ยอินทรีย์สูตรสั่งได้ สั่งให้ออกดอกได้ สั่งให้ผลโตได้ สั่งให้ผลมีรสหวานขึ้นมาได้ โดยที่มีอินทรีย์วัตถุอื่นเข้ามาผสมร่วม เช่นขี้แดด น้ำมะพร้าว และหัวเชื้อเครื่องดื่ม เป็นปุ๋ยอินทรีย์วัดจากแดง สูตรสั่งได้ได้รับการสั่งซื้อทั่วประเทศ และได้ผลตามที่เกษตรกรต้องการ ทำให้คนมั่นใจในการใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่ได้จากขยะเปียกต่อไปได้แก๊สหุงต้มด้วย เป็นการ ได้สิ่งดีต่อสุขภาพที่มาจากปุ๋ยอินทรีย์ และลดโลกร้อนได้ด้วย สามารถนำไปเคลมเป็นคาร์บอนเครดิตจากปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนพลาสติกก็จะเคลมเป็นพลาสติกเครดิตต่อไป”
พระราชวัชรบัณฑิต กล่าวต่อเนื่องถึงโครงการฯในปีที่สาม วัดจากแดงขอเชิญชวนร่วมกันคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะเหล่านั้นส่งวัดจากแดงจะเป็นเศษอาหารก็ดี เศษพลาสติกก็ดี เมื่อแยกแล้วสามารถนำมาส่งวัดจากแดงเพื่อแปรรูป ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมทั้งการรับคะแนนเพื่อแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
นพเก้ากล่าวในท้ายที่สุดถึงเป้าหมายร่วมปี 2566 ในโครงการสถานีขยะล่องหน คุ้งบางกะเจ้า การบริหารจัดการขยะรวมในปีนี้ อย่างน้อย 28,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 40% จากปีที่แล้ว (เดือนละ 2,333กิโลกรัม)
No Comments