15 กรกฎาคม 2566…“ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” โครงการนำร่องสร้างการตระหนักรู้ ส่งขวดขุ่นเข้ากระบวนการรีไซเคิล เป็นไปตามเจตนารมณ์ขององค์กรและนโยบายการพัฒนาความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด เพิ่มคุณค่าชีวิต หรือ Enriching Life โดยให้ความสำคัญกับ 3 มิติ คือ
-เพิ่มคุณค่าด้านสุขภาพ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพเพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภค
-เพิ่มคุณค่าให้สังคม ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ลำพัง จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พันธมิตรทางธุรกิจ ช่องทางขาย ร้านกาแฟ ซีพี-เมจิ จึงดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจกาแฟ และดูแลชุมชน
-เพิ่มคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม โดยการใช้พลังงานทางเลือก บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ปล่อยน้ำเสีย นำน้ำกลับมาวนใช้ในโรงงาน ร่วมมือกับพันธมิตรในการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติกประเภท HDPE (High Density Polyethylene) หรือพลาสติกแบบขุ่นซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์นมเมจิ
ล่าสุดเปิดตัวโครงการ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันส่งแกลลอนนมที่ใช้แล้ว เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง และเพิ่มคุณค่าด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อชุมชน
ชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวถึงโครงการว่า “โครงการ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และเป็นก้าวแรกของซีพี-เมจิ ในการดำเนินการด้านขยะพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศและระดับโลก และเป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องการทำ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ของ ซีพี-เมจิ เป็นพลาสติกขุ่นชนิด HDPE ซึ่งเราในฐานะแบรนด์ที่มียอดขายอันดับหนึ่งมองว่ายิ่งขายได้มาก ก็มีบรรจุภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคและสังคมมากตามไปด้วย สำหรับขวดขุ่นหลายคนยังไม่ทราบว่าสามารถนำไปรีไซเคิล เราจึงอยากรณรงค์ในเรื่องการคัดแยกขยะเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกต้อง”
เฟสแรก ซีพี-เมจิ ตั้งเป้าในการเก็บแกลลอนพลาสติกจำนวน 15,000 แกลลอน นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปเป็นถังขยะสีเหลืองสำหรับขยะรีไซเคิล จำนวน 500 ถัง ส่งมอบให้กับจังหวัดสระบุรี (สถานที่ตั้งโรงงานผลิต) เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สาธารณะทั่วจังหวัด ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกต้องให้กับทุกภาคส่วนต่อไป
ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร CirPlas ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะพลาสติก อธิบายเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน โดยขยะมากกว่า 75% ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม มักจะถูกนำไปฝังกลบ หรือเผาทำลาย ส่งผลให้เกิดการหลุดรอด และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่วนพลาสติกที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลสูงที่สุดคือพลาสติกประเภท PET อยู่ที่ 70% รองลงมาคือ PP 25% และ บรรจุภัณฑ์ประเภท HDPE อยู่ที่ 20% ต้องขอขอบคุณโครงการซีพี-เมจิ รีไซขุ่น ที่จะทำให้ตัวเลขตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปในทางที่ดีขึ้น”
ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ได้ ด้วยการแยกขยะอย่างถูกต้อง เพียงแค่นำแกลลอนพลาสติกไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้งของ CirPlas กว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริษัทจะทำการเก็บและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นถังขยะต่อไป โดยลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลของจุดรับทิ้งได้ที่ เฟสบุค CirPlas หรือ Line Official (@cirplas) และลูกค้าสามารถสังเกตเครื่องหมายแคมเปญ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่นได้ทุกจุดรับทิ้งแกลลอน
โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องครั้งแรกของ ซีพี-เมจิ โดยมีระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 13 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2566 หลังจากนี้จะมีการพัฒนาและต่อยอดโครงการในเฟสต่อ ๆ ไป เพื่อให้การรีไซเคิลขวดขุ่นในอนาคตสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่กลายเป็นขยะซ้ำซ้อนจากการไม่ได้ถูกนำไปใช้งานจริง