9 ตุลาคม 2566…รายงานจากกรีนพีซระบุว่า ทุกปี มีขยะทะเลจากเศษอวนใช้แล้ว หลุดรอดลงมหาสมุทรกว่า 640,000 ตัน คิดเป็น 10% ของปริมาณขยะทะเลทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งหากมีการบริหารจัดการเก็บเศษอวนเหล่านี้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล ก็สามารถลดขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้
จากตัวเลขเหล่านี้ทำให้ผู้คนและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนตื่นตัวเรื่องขยะทะเลมากขึ้น และเนื่องในวันเก็บขยะชายหาดสากล 16 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน จับมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง พันธมิตรธุรกิจ และเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เปิดตัวโครงการ “Nets Up” (เนทซ์ อัป) โมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อทะเลยั่งยืน โดยเปลี่ยนอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว สู่ Marine Materials วัสดุทางเลือกใหม่จากนวัตกรรมรีไซเคิล
โดย Marine Materials เหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจสิ่งทอ ด้วยการขึ้นรูปเป็นเส้นด้ายและทอเป็นผืนผ้าสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อัปไซเคิล ถือเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปัญหาขยะทะเล พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน และช่วยลดภาวะโลกร้อน
โมเดล “Nets Up” ถือเป็นการเชื่อมโยง Value Chain อย่างครบวงจร โดยเริ่มต้นที่การจัดการอวนประมงที่ไม่ใช้แล้ว และนำเข้าระบบการซื้อขายของธนาคารขยะชุมชน ผ่านแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง พัฒนาเป็น Marine Materials วัสดุรีไซเคิลจากอวนประมงไม่ใช้แล้ว เช่น วัสดุผ้าในธุรกิจสิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์รองเท้ากีฬา ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า
การเข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยง Value Chain ของ SCGC ทำให้ชาวประมงสามารถขายแหอวนเหลือใช้ได้สะดวกเนื่องจาก SCGC จะเข้าไปรับซื้อที่ชุมชน โดยอวนที่ชาวประมงนำมาขายจะมีทั้งอวนปู อวนปลา ซึ่งมีระยะการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 2-3 เดือนก็ต้องเปลี่ยนใหม่เพราะเสื่อมสภาพการใช้งาน เฉลี่ยแล้วต่อเดือน SCGC รับซื้อแหอวนเหลือใช้จากชุมชนชาวประมงนำร่อง 10-12 ชุมชน จากทั้งหมด 50 ชุมชน ในพื้นที่ระยอง คิดเป็นประมาณ 100-200 กิโลกรัมต่อเดือน หมุนเวียนกันไป
“โมเดล Nets Up เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของ SCGC ในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวทาง ESG เน้นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนานวัตกรรมรีไซเคิล โดยนำความเชี่ยวชาญด้านเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ High Quality Post-Consumer Recycled Resin มาพัฒนาเป็น Marine Materials วัสดุรีไซเคิลจากอวนประมงไม่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่เพื่อความยั่งยืนสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง Nets Up ถือเป็นโมเดลที่เชื่อมโยง Value Chain อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วยการบริหารจัดการขยะทะเล ส่งเสริมการจัดการอวนประมงไม่ใช้แล้วไม่ให้หลุดรอดออกสู่ทะเล พัฒนานวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอวนประมงไม่ใช้แล้ว รวมถึงดำเนินการเรื่องธนาคารขยะชุมชน สร้างเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จิตอาสาและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังช่วยขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจนำ Marine Materials หรือวัสดุรีไซเคิลจากอวนประมงไม่ใช้แล้วไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อัปไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยปัจจุบันเริ่มนำร่องโมเดลดังกล่าวในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดระยองเป็นแห่งแรก และในอนาคตมีแผนจะขยายโครงการไปทั้ง 23 จังหวัด ริมชายฝั่งทะเลประเทศไทย”
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยถึงโครงการ
หัวใจสำคัญของ โมเดล “Nets Up” เกิดจากความร่วมมือจากพันธมิตรหลายภาคส่วนเพื่อเชื่อมต่อกระบวนการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เพราะ SCGC เชื่อว่าการทำงานคนเดียวไม่สามารถทำให้โมเดลใด ๆ ก็ตามที่คิดขึ้นมาประสบความสำเร็จได้ การที่หลายภาคส่วนมองเห็นปัญหาเดียวกันแล้วร่วมกันแก้ไขจึงเป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในภายภาคหน้า
สอดคล้องกับที่พิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบายเสริมว่า“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายในการรักษา และบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals
โมเดล Nets Up และ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการบริหารจัดการขยะทะเล และการพัฒนานวัตกรรมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งการประกาศเจตนารมณ์แสดงความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ SCGC กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ทช.) สมาคมเยาวชน The Youth Fund องค์กร AEPW (Alliance to End Plastic Waste) ทีมพลาสเคมีคอล ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ Nyl-One ไทยแทฟฟิต้า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) ชุมชนประมงนำร่อง และเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล จะช่วยให้กลุ่มประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำเศษอวนมาคัดแยก ลดภาระในการนำไปกำจัดเอง รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้อวนไม่ใช่แล้วหลุดรอดลงในทะเล กระทรวงฯ จึงพร้อมสนับสนุน SCGC และเครือข่ายพันธมิตร ขับเคลื่อนกลไกการจัดการอวนประมงไม่ใช้แล้ว และประสานความร่วมมือกับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการอวนประมงไม่ใช้แล้ว ให้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทั่วประเทศไทย
ขณะเดียวกัน กฤษฎิ์ ภักดีจิตต์ ตัวแทนจากสมาคมเยาวชน The Youth Fund ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมกับโมเดล Nets Up ให้ทรรศนะที่น่าสนใจว่า
“ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ร่วมกับภาครัฐ องค์กรชั้นนำ และภาคีเครือข่าย กลุ่ม The Youth Fund เป็นการรวมตัวของเยาวชนอายุ 15-17 ปี ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเล การปลูกปะการัง การปลูกป่าชายเลน ทั้งนี้ ความร่วมมือในโครงการ Nets Up เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยกันพิทักษ์ทะเล และปลูกฝังให้เด็กที่เป็นอนาคตและความหวังของประเทศ ได้เห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า”
Stakeholder ที่จะขาดไม่ได้คือ ชุมชนประมงถือเป็นจิกซอว์สำคัญที่เข้ามาเชื่อมต่อให้โมเดล Nets Up ประสบความสำเร็จ
กาหลง จงใจ ประธานกลุ่มประมงบ้านพลา-หาดพลา เปิดใจถึงการเข้าร่วมกับโครงการ Nets Up ว่า บ้านพลา-หาดพลาเป็นประมงเรือเล็กพื้นบ้าน มีการวางอวนปูม้าเป็นหลัก อีกอาชีพก็คือการตกหมึก ปกติอวนที่ใช้งานจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3 เดือน เมื่อหมดอายุการใช้งานสมัยก่อนจะเผา หรือถ้าอันไหนสะอาดจะขายให้คนที่รับซื้อนำไปแปรรูปอีกที แต่การได้เข้าร่วมกับโครงการ Nets Up ทำให้ขายได้ราคาเพิ่มขึ้น ทั้งชุมชนเมื่อรวมกันแล้วจะได้ 10-30 กิโลกรัม เงินที่ขายได้จะนำมาซื้อเนื้ออวนใหม่
“ตอนที่เราเห็นว่าอวนของเรานำมาทำสินค้าอื่น ๆ ได้ เช่น เสื้อ เราก็ตกใจไม่นึกว่าจะสามารถนำมาทำเสื้อที่ใส่แล้วนุ่มสบายได้ คิดว่าหลังจากนี้ชาวประมงที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการน่าจะให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นแล้วว่าสามารถนำอวนมาเพิ่มมูลค่าได้ ช่วยไม่ให้เกิดขยะที่จะหลุดลงไปในทะเล ขณะเดียวกันในชุมชนเองเราก็มีการปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีส่วนช่วยในการเก็บขยะทะเลด้วยเช่นกัน”
อนุวัฒน์ จิตตระวล กลุ่มประมงเก้ายอด กล่าวเสริมว่า ชุมชนเก้ายอดเป็นประมงพื้นบ้านมีเรือในกลุ่ม 28 ลำ ส่วนใหญ่จะวางอวนปู รอกหอยตกหมึกสาย ทางกลุ่มจะเป็นกลุ่มที่รับซื้ออวนเพราะทางชุมชนมีธนาคารขยะอยู่แล้ว เพื่อนำไปขายต่อให้โรงงานที่ติดต่อเข้ามา ส่วนต่างจากการขายกลุ่มจะนำมาเก็บรวบรวมและบริหารจัดการนำไปเป็นทุนการศึกษาให้เด็กในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสมุดฝากแต้ม อวนที่ชาวบ้านนำมาขาย 10 บาทจะได้ 1 แต้ม สะสมไว้เพื่อแลกข้าวสาร ปลากระป๋อง ไข่ เป็นต้น ชาวประมงจะได้ทั้งราคาขายตามตลาดและได้แต้มเพื่อสะสมไว้แลกสินค้า
ที่ผ่านมา SCGC ได้ขับเคลื่อนธุรกิจ และปลูกฝังหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง ผ่านโมเดลการจัดการขยะต่าง ๆ อาทิ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ถุงนมกู้โลก เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม” “แยกให้เป็น” “ทิ้งให้ถูก” และนำกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ นอกจากนี้ยังได้เดินหน้าร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดการปัญหาขยะทะเล และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลด้วยนวัตกรรม เช่น นวัตกรรมทุ่นกักขยะ นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE 100 ของ SCGC เป็นต้น
ดร.สุรชา กล่าวปิดท้ายว่าโครงการนี้ SCGC มีความตั้งใจที่จะให้เกิดการขยายผลและครอบคลุมไปทั้งชายฝั่งประเทศไทย อย่างไรก็ตามการหาพันธมิตรเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการจะประสบความสำเร็จต้องช่วยกันหลายฝ่าย การเริ่มต้นที่ระยอง จะเป็นโมเดลต้นแบบและขยายไปสู่พื้นที่ชายฝั่งอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต