CIRCULAR ECONOMY

ทำไมต้อง HUB of E-Waste ก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน ด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของ AIS และพลังพาร์ทเนอร์ 190 องค์กร

14 ตุลาคม 2566…รู้หรือไม่ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะหากจัดการไม่ถูกวิธีจะส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทน ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ถึง 25 เท่า เมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2565 พบว่า สถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้น 676,146 ตัน 65% เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 35% เป็นของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ 236,651 ตัน ซึ่งถูกรวบรวมและนำไปกำจัดเพียง 12.86% เท่านั้น นั่นหมายความว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือเกือบ 90% ใช้กระบวนการจัดการที่ไม่ถูกวิธี

ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของ AIS ภายใต้เป้าหมายที่ 13 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ว่าด้วยปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งเสริมให้คนไทยร่วมกันกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีผ่านโครงการ “คนไทยไร้ e-waste” โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนา Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา และกระบวนการต่างๆ ให้คนไทยจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี

เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น ปีที่ผ่านมา AIS ได้ขยายผลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปอีกขั้น โดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาพัฒนาแพลตฟอร์ม E-Waste+ ให้คนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก ผ่านกระบวนการ Track and Trace ที่จะทำให้ผู้ทิ้งขยะ E-waste สามารถตรวจสอบสถานะการทิ้งได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อแจ้งข้อมูลที่เรามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

 

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการคนไทยไร้ e-waste ตั้งแต่ปี 2019 ทำให้วันนี้ AIS เป็นองค์กรแรกในไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใน International E-Waste Day ของ WEEE Forum (Waste Electrical and Electronic Equipment) ซึ่งเป็นสมาคมระดับนานาชาติที่รวบรวมข้อมูลด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์และมีสมาชิกจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งบนเว็บไซต์หลักของ WEEE Forum จะมีกิจกรรมและการทำงานของ AIS จากประเทศไทย รวมถึงจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลก

“ปีนี้ AIS ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อให้คนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี โดยใช้วาระพิเศษที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เนื่องในวันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล หรือ International E-Waste Day 14 ตุลาคมปีนี้ ประกาศความพร้อมยกระดับการทำงานสู่การเป็น HUB of E-Waste หรือ ศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะครั้งแรกในไทย โดยจับมือพาร์ทเนอร์ กว่า 190 องค์กร มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ HUB of E-Waste ด้านต่างๆ มุ่งจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกวิธีแบบ Zero e-waste to landfill โดยนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งที่จุดรับทิ้งมากกว่า 2,500 จุดทั่วประเทศ”

 

ทั้งนี้ HUB of E-Waste จะเป็นศูนย์กลางความรู้และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ครอบคลุม 5 ด้าน อาทิ ด้านองค์ความรู้ ด้านเครือข่ายที่มาช่วยกันแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ด้านจุดรับทิ้ง ด้านการขนส่ง หรือแม้แต่ด้านรีไซเคิล เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้คนไทยทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ประกอบด้วย

· HUB of Knowledge ศูนย์กลางความรู้ที่รวบรวมข้อมูล บทความ งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม และขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการอัพเดทข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

· HUB of Community ศูนย์กลางเครือข่าย Green Community สร้างชุมชนให้เกิดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะ E-waste และการระดม แลกเปลี่ยนไอเดียในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ กลุ่มกรีนพหลโยธิน , องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) , ARI Innovation District เป็นต้น

· HUB of Drop Points ศูนย์กลางความร่วมมือในการขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ร่วมกันมากกว่า 2,500จุดทั่วประเทศ

· HUB of Transportation ศูนย์กลางระบบจัดการ E-Waste ที่ทำงานร่วมกับไปรษณีย์ไทย ในการรับขยะ E-Waste รวมถึงการติดตามสถานะขยะ E-Waste ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ผ่านแอป E-Waste+ ที่สามารถตรวจสอบและติดตามได้ว่าขยะ E-Waste ทุกชิ้นจะถูกนำส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลในโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน

· HUB of Circular ศูนย์กลางการจัดการและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด (WMS) โดยมีเป้าหมายหลัก บริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีโดยปราศจากการฝังกลบ หรือ Zero e-waste to landfill

การเป็น HUB of E-Waste ของ AIS แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง โดยมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน

 

You Might Also Like