20 ตุลาคม 2566.. ปัจจุบันโคคา-โคล่า กว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 1 แบรนด์ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติก PET รีไซเคิล 100% ไม่รวมฉลากและฝาขวด เช่น ในอินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม และล่าสุดในไทย
กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ไม่รวมฉลากและฝาขวด โดยเริ่มจาก โค้กรสชาติออริจินัล และ โค้กสูตรไม่มีน้ำตาล ขนาด 1 ลิตร วางจำหน่ายแล้วทั่วประเทศ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมโค้กถึงเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100%โดยเริ่มที่ขวด 1 ลิตร ศรุต วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ให้เหตุผลว่า
“การเริ่มจากขวดหนึ่งลิตร ถือเป็นการทดลองตลาดดูว่าผู้บริโภคให้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน เพราะการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% มาบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย เรื่องความเข้าใจของผู้บริโภคจึงสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของฟีดสต็อกที่มีความท้าทายในแง่ของการเก็บกลับเข้ามาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้กลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดต่อไป”
เป็นไปตามวิสัยทัศน์ World without waste ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลก การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์โค้กที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีจากบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ซึ่งผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย และตรงตามมาตรฐานการผลิตสินค้าระดับโลกของ โคคา-โคล่า ถือเป็นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระดับโลกของโคคา-โคล่า ที่ต้องการส่งเสริมความยั่งยืน โดยมุ่งที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์ของโค้ก สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2568 และใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 50% ภายในปี 2573
ณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด กล่าวเสริมถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า
“เอ็นวิคโค เป็นบริษัทในกลุ่ม GC ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค หลังจากที่เราได้รับมอบขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว หรือ Post-Consumer Recycled PET ซึ่งถูกรวบรวมมาจากกลุ่มพันธมิตร เราก็จะนำไปผ่านขั้นตอนการแปรรูปต่างๆ เพื่อพัฒนาให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ทัดเทียมเม็ดพลาสติกใหม่ ภายใต้แบรนด์ InnoEco ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลและกระบวนการผลิตมาตรฐานอันทันสมัยจากยุโรป ที่สามารถสอบกลับถึงที่มาของพลาสติกใช้แล้วได้ 100% กระบวนการผลิตของเราได้รับมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ทั้ง US-FDA EFSA สำหรับการใช้ในยุโรป นอกจากนี้ เรายังได้รับการรับรองจาก อย. เป็นรายแรกของประเทศไทย ให้สามารถผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารด้วยพลาสติกใช้แล้วได้”
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ถือเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องของการคัดแยกขยะและเปิดพื้นที่ให้เป็นจุด Drop Point เพื่อนำขวด PET ที่ใช้แล้วมาทิ้งเพื่อนำกลับเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีต่อไป ณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่การตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า
“เดอะมอลล์ กรุ๊ป คือ Green Retail ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ESG มาโดยตลอด สำหรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ไม่รวมฝาและฉลาก ภายใต้โครงการ โค้กคิดเพื่อโลก ในวันนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป มีความพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนโครงการดังกล่าว ด้วยการจัดพื้นที่วางขวดโค้กยักษ์ บริเวณด้านหน้ากูรเม่ต์ มาร์เก็ต ดิเอ็มควอเทียร์ เพื่อเป็นจุดรับวัสดุรีไซเคิล และส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน”
ที่ผ่านมาเดอะมอลล์กรุ๊ปเป็นพาร์ทเนอร์กับโค้กมานาน ปัจจุบันมีจุด Drop Point อยู่ที่ 4 สาขา ที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน เดอะมอลล์ท่าพระ เอ็มโพเรียม และเอ็มควอเทียร์ จากการดำเนินการมาแล้ว 4 ปี ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ทำให้สามารถส่งขวด PET กลับสู่กระบวนการรีไซเคิลหรืออัพไซคิ่งแล้วกว่า 8 แสนขวด คิดเป็นน้ำหนัก 2 หมื่นกิโลกรัม
ทั้งนี้ ก่อนการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ โค้ก ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ไม่รวมฉลากและฝาขวด “โคคา-โคล่า” ได้ส่งเสริมให้ผู้บริโภคแยกขยะและวัสดุรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง ผ่านแคมเปญ“โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky” ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 ผ่านความร่วมมือกับแทรชลัคกี้ สตาร์ทอัปเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาจำแนกและแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ออกจากขยะทั่วไป กว่า 3 ปีที่ผ่านมาแคมเปญดังกล่าวสามารถเก็บคืนขวดพลาสติก PET ได้มากกว่า 700,000 ขวด และมีเป้าหมายจะไปให้ถึงหลักล้านขวดภายในปีนี้ โดยมีจุดรับขวด 69 จุดทั่วประเทศ พร้อม “ลุ้น” รางวัลเป็นเจ้าของรถยนต์ EV
ณัฐภัค อติชาตการ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด กล่าวถึงความท้าทายของการเก็บขวด PET กลับมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีว่า หลักคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เรื่องรีไซเคิลในประเทศไทยและในเอเซียนยังใหม่มาก ไม่เหมือนทางยุโรปที่ทำเรื่องรีไซเคิลกันมานานมาก อย่างไรก็แล้วแต่การเปลี่ยนพฤติกรรมต้องมี 3 ปัจจัยหลักคือ สร้างการตระหนักรู้ถึงการคัดแยกขยะ เพื่อแยกขยะให้ถูกต้องไม่ให้ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อม ต้องมีแรงจูงใจ ความสมัครใจไม่พอ อาจจะเป็นแรงจูงใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงจูงใจจากของรางวัล หรือแรงจูงใจจากการอยากทำบุญ ต้องสะดวก ต้องมีจุดทิ้งหลายที่ให้คนเอาขวดมาทิ้งได้ง่าย
ศรุต กล่าวในท้ายที่สุด ในระยะยาวบริษัทต้องสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคเรื่องรีไซเคิลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดการด้านบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ความท้าทายคือการร่วมงานกับพันธมิตรที่เข้มแข็ง และพาให้การดำเนินงานเกิดผลอย่างแท้จริง และมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำงานร่วมกับองค์กรเอกชน องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร หรือภาครัฐโดยคาดหวังว่าจะมีมาตรการ กฏระเบียบ มีนโยบายที่เอื้อและสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไป