26 ตุลาคม 2566…กว่า 20 ปีที่ผ่านมา การบินไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ จุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มหลากหลายรูปแบบ ทั้งในมิติของการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ในปี 2050 ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่
FROM PLANES TO PLANET การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน เช่น การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น
FROM WASTE TO WEALTH การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หลังจากที่นำผลิตภัณฑ์ต่างๆมาใช้ซ้ำ หากผลิตภัณฑ์ใดมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างรายได้ให้กับองค์กร ชุมชน สังคม ผู้ที่อยู่แวดล้อมใน Ecosystem ของบริษัท ก็จะถูกต่อยอดต่อไปในอนาคต
FROM PURPLE TO PURPOSE จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน โดยล่าสุดมีการปรับโฉมยูนิฟอร์มใหม่ นำร่องเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มทยอยเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และจะเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงทั้งหมดภายในกลางปี 2567
สำหรับเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทย 30% ถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิลจากขวด PET 70% โดย เครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง 1 ชุด ทำจากขวด PET 54 ขวด
จุดเด่นนอกจากความสวยงามคงอัตลักษณ์ความเป็นไทย คุณลักษณะพิเศษอีกข้อคือความง่ายในการดูแลรักษา สามารถทำความสะอาดได้ด้วยเครื่องซักผ้าปกติแตกต่างจากชุดไทยผ้าไหมแท้แบบเดิมซึ่งต้องส่งซักแห้ง นอกจากนั้นยังคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน ซึ่งก่อนจะมีการนำมาใช้ได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า
“วิสัยทัศน์ของบริษัทคือเราจะให้บริการด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นไทย จากนี้ไปจะเป็นการเพิ่มโอกาสทำให้ทุกคนในโลกนี้มองเห็นว่าการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ผู้โดยสาร 80% ของการบินไทยเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเรามั่นใจว่าผู้โยสารกลุ่มนี้มีความชื่นชอบในชุดไทย และผู้โดยสารชาวไทย 20% มีความรักในความเป็นไทย ตอบโจทย์ความพึงพอใจของลูกค้า สำหรับในส่วนของสิ่งแวดล้อมวันข้างหน้าเราหนีไม่พ้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องพยายามทำให้การบินไทยตอบโจทย์นี้ได้ด้วยเช่นกัน”
ในอนาคต ชาย อธิบายต่อเนื่องว่าจะมีการขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการบนเครื่องบินอื่นๆ
“ต่อไปขวดน้ำที่เราใช้บนเครื่องอาจจะมีการเปลี่ยนเป็นขวดที่ Upcycling มาจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งตอนนี้กำลังศึกษารายละเอียด แต่ที่เราทำแล้วคือเสื้อของพนักงานทำมาจากยูนิฟอร์มเก่าของลูกเรือนำมา Upcycling โดยชุดยูนิฟอร์มเก่า 2 กิโลกรัม สามารถนำเสื้อพนักงานได้ 1 ตัว เรากำลังพยายามเดินไปสู่เรื่องของความยั่งยืนโดยไม่ต้องมีการลงทุนมากนัก เนื่องจากบริษัทยังอยู่ในแผนฟิ้นฟู อะไรที่เราพอจะทำได้ตอนนี้เราก็ค่อยๆทำไป”
ทั้งนี้ การบินไทยยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน โดยตั้งเป้าจะนำมาใช้ภายในปี 2030 รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน เช่น กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม เช่น การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯกำหนดไว้
“ครั้งนี้เป็นมิติใหม่อีกครั้งที่การบินไทยตอบโจทย์ทั้งเรื่องของความเป็นไทยและสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณพนักงานต้อนรับหญิงที่ให้การสนับสนุนโครงการของบริษัท ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยสร้างความภูมิใจในความเป็นไทยของเรา” ชายกล่าวปิดท้าย